xs
xsm
sm
md
lg

คมนาคมจ่อชงแผนฟื้นฟู ขสมก.เข้า ครม.พ่วงไฟเขียวซื้อรถเมล์ NGV 1.3 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - “ชัชชาติ” เร่งปรับแผนฟื้นฟู ขสมก.เสนอ ครม.สัปดาห์หน้า พ่วงแผนแก้หนี้ 7.2 หมื่นล้าน ซื้อรถ NGV 3,183 คัน วงเงิน 1.31 หมื่นล้านบาท คาดได้รถใหม่อย่างช้าต้นปีหน้า จ่อเปิดประมูลพร้อม 8 เขตให้รายเล็กแข่งขัน แก้ครหาล็อคสเปก พร้อมเสนอให้ขสมก.รับหนี้บางส่วนเองแทนที่โยนภาระให้รัฐทั้งหมด “โอภาส” เผย “ซ้ายตลอดจอดทุกป้าย” ช่วยรายได้เพิ่มเป็น 12 ล้านบาท/วัน

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยเปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการจัดหารถโดยสารปรับอากาศใช้ก๊าซธรรมชาติ (NGV) เป็นเชื้อเพลิงขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงแผนฟื้นฟู ขสมก.ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ และจะเสนอเรื่องถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบในหลักการได้ในสัปดาห์หน้า โดยในแผนจะมีการจัดซื้อรถใหม่ใช้ NGV เป็นเชื้อเพลิง จำนวน 3,183 คัน วงเงิน 13,162.20 ล้านบาท ส่วนการปรับปรุงเก่า 323 คันนั้น จะได้รับเงินอุดหนุนจากกระทรวงพลังงานประมาณ 500 ล้านบาทมาดำเนินการ

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาหนี้สะสมกว่า 7.2 หมื่นล้านบาท ตามหลักการเดิมจะเสนอให้รัฐรับภาระทั้งหมด แต่เมื่อ ขสมก.มีรถใหม่เข้ามาบริการ ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและค่าซ่อมลง ดังนั้น ขสมก.อาจต้องรับภาระหนี้ส่วนหนึ่งไว้เอง ซึ่งนอกจากจะแบ่งเบาภาระของรัฐได้แล้ว ยังจะใช้เป็นส่วนหนึ่งของตัวชี้วัดการบริหารงาน (KPI) ขสมก.ด้วย แต่จะเป็นสัดส่วนเท่าใดจะต้องวิเคราะห์ตัวเลขที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดก่อน

นายชัชชาติ กล่าวว่า หลัง ครม.เห็นชอบแผนฟื้นฟู จะใช้เวลาในการจัดซื้อรถใหม่ 6-7 เดือน โดยคาดว่าจะมีรถใหม่เข้ามาให้บริการได้อย่างเร็วปลายปีนี้หรือต้นปีหน้าเป็นอย่างช้า โดยให้ขสมก.ศึกษาวิธีการจัดซื้อที่เกิดประโยชน์สูงสุดและไม่ล็อคสเปค โดยเห็นว่าการแบ่งให้ 8 เขตเดินรถ ขสมก.เปิดประมูลพร้อมกันจะทำให้เกิดการแข่งขันและให้ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถเข้าร่วมประมูลได้

ส่วนในแผนฟื้นฟู มีเป้าหมายเพื่อลดต้นทุน ลดค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยซื้อรถที่ใช้ก๊าซ NGV มาให้บริการแทนรถที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง และการแก้ปัญหาหนี้ การปรับปรุงเส้นทางเดินรถ การจัดหาอู่จอดรถ การดูแลพนักงานในเรื่อง เกษียณก่อนอายุ (เออลีรีไทร์ ) เป็นต้น ซึ่งแผนปรับปรุงใหม่จะเหลือ 13 ข้อ จากเดิม 14 ข้อ โดยตัดเรื่องการเช่ารถเอกชน (PBC) ออก เพราะไม่มีความจำเป็น ส่วนระบบจัดเก็บตั๋วอัตโนมัติ หรือ E-ticket นั้น จะยังไม่ดำเนินการในช่วงแรก เพราะจะต้องรอระบบตั๋วร่วม ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กำลังดำเนินการ โดยจะเร่งรัดให้เร็วขึ้นกว่าเดิมที่จะดำเนินการใน 4 ปี โดยภายในปีนี้ควรจัดตั้งหน่วยงานกลาง (Clearing House) และเริ่มใช้ได้ในปี 2556 โดยจะเริ่มกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์, ทางด่วน, รถเมล์ เป็นต้น

โดยในแต่ละเดือน ขสมก.มีค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงประมาณ 241 ล้านบาท ค่าเงินเดือนพนักงาน 437 ล้านบาท ค่าเหมาซ่อม 212 ล้านบาท ค่าดอกเบี้ย 202 ล้านบาท ขณะที่มีรายได้ประมาณ 667 ล้านบาท ทำให้ขาดทุนกว่า 400 ล้านบาท หากมีรถใหม่ใช้ NGV จะช่วยลดค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงลงได้ถึง 150 ล้านบาทต่อเดือน

นายโอภาส เพชรมุณี ผู้อำนวยการ ขสมก.กล่าวว่า ขณะนี้ ขสมก.ได้เสนอแผนฟื้นฟูที่ปรับปรุงใหม่ให้กระทรวงคมนาคมเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า จะต้องรอให้ ครม.เห็นชอบแผนฟื้นฟู ขสมก.ก่อนจึงจะพิจารณาจัดซื้อรถเมล์ NGV ได้ ซึ่งจะต้องหารือกับกระทรวงการคลังถึงแนวทางการแก้ปัญหาหนี้สะสมกว่า 7 หมื่นล้านบาท และจะต้องเสนอแผนฟื้นฟูให้คณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ (กนร.) พิจารณาด้วย

นายโอภาส ยอมรับว่า ความล่าช้าในการจัดหารถใหม่ที่จะใช้ NGV เป็นเชื้อเพลิง ส่งผลกระทบต่อต้นทุนขสมก.อย่างมาก เนื่องจากรถที่วิ่งให้บริการ ประมาณ 2,900 คัน กว่า 90% เป็นเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล มีเพียง 200 คันเท่านั้น ที่ใช้ก๊าซ NGV ซึ่ง ขสมก.มีค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันถึง 6 ล้านบาทต่อวัน โดยที่ราคาก๊าซ NGV มีส่วนต่างจากน้ำมันดีเซลถึง 20 บาท ซึ่งทำให้ ขสมก.ไม่สามารถลดต้นทุนลงได้ และยังทำให้ประชาชนเสียโอกาสในการใช้บริการรถใหม่อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มีการปรับปรุงการให้บริการ เช่น มาตรการซ้ายตลอดจอดทุกป้าย จัดเพิ่มรถและพนักงานให้บริการในช่วงเย็น (16.00-20.00 น.) ให้มากขึ้น เนื่องจากมีผู้โดยสารมาก ซึ่งทำให้ ขสมก.มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 12 ล้านบาทต่อวันจากเดิมที่มีรายได้ประมาณ 10 ล้านบาทต่อวัน นอกจากนี้ ขสมก.ยังได้รับเงินสนับสนุนจากกระทรวงพลังงานประมาณ 50 ล้านบาทเพื่อนำมาซ่อมแซมปรับปรุงเครื่องยนต์รถโดยสารปรับอากาศยี่ห้อ MAN จำนวน 25 คัน ซึ่งจะนำออกวิ่งให้บริการได้ในวันที่ 16 มี.ค.นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น