xs
xsm
sm
md
lg

“คมนาคม” ซื้อรถเมล์ NGV1.3 หมื่นล. มั่นใจปี 57 ขสมก.มีกำไรอย่างน้อย 200 ล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ชัชชาติ” ชงกนร.เห็นชอบแผนฟื้นฟูขสมก. ซื้อรถNGV 3,183 คัน วงเงิน 1.3 หมื่นล้านบาทสัปดาห์หน้า ก่อนเสนอครม.อนุมัติภายใน 2-3 สัปดาห์นี้ มั่นใจเดินตามแผนปี 57 ขสมก.มีกำไรอย่างน้อย 200 ล้านบาท ลดพนักงานเหลือ 9,000 คน เผยค่าเหมาซ่อมสุดแพง 1,200 บาท/คัน/วัน เสียไม่เสียก็ต้องจ่าย สภาพรถเก่าคนใช้น้อยลง ยอดตั๋วลดฮวบจากวันละ 2.57 ล้านใบ เหลือ 1.03 ล้านใบ พร้อมสั่งสนข.เร่งตั๋วร่วมใน 1 ปี เล็งให้กรุงไทยเป็นเจ้าภาพแทน

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการจัดหารถโดยสารปรับอากาศใช้ก๊าซ NGV เป็นเชื้อเพลิงขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ว่า จะเสนอแผนฟื้นฟู ขสมก. ต่อที่ปะชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ (กนร.) ในสัปดาห์หน้า หากได้รับความเห็นชอบคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาได้ภายใน 2-3 สัปดาห์

ซึ่งหากสามารถดำเนินการปรับโครงสร้างองค์กรและการบริหารจัดการและแก้ปัญหาหนี้สะสมได้ตามแผนฟื้นฟูและจัดซื้อรถ NGV จำนวน 3,183 คัน วงเงิน 13,162.20 ล้านบาทได้ ขสมก.จะเริ่มมีกำไรในปี 2557 ประมาณ 200 ล้านบาท แต่หากไม่มีการดำเนินการใดๆ หนี้สะสมจะเพิ่มขึ้นจาก 7.6 หมื่นล้านบาทในปัจจุบันเป็น 1.2 แสนล้านบาทในปี 2559 และผลขาดทุนสะสมจะเพิ่มเป็น 1.4 หมื่นล้านบาท

“เนื่องจากราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมาครม.ได้ถามถึงการซื้อรถใหม่ เพราะกังวลเนื่องจากรถของขสมก.ใช้น้ำมันดีเซลเกือบ 100% ซึ่งการซื้อรถใหม่นั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ให้นำแผนฟื้นฟูขสมก.ขออนุมัติก่อนซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเสนอกนร.เห็นชอบ”นายชัชชาติกล่าว

โดยปัญหาที่ทำให้ขสมก.ขาดทุนและมีหนี้สะสมสูง เช่น ค่าเหมาซ่อมสูง ปัจจุบันเฉลี่ยที่ 1,200 บาทต่อคันต่อวัน เสียหรือไม่เสียก็ต้องจ่าย ดังนั้นการซื้อรถใหม่จะช่วยลดค่าซ่อมลงได้มากโดยเฉพาะในช่วง 5 ปีแรก และจะต้องปรับให้ตัวเลขมีความโปร่งใสและยุติธรรมมากขึ้น

นอกจากนี้ยังพบว่า จำนวนยอดขายตั๋วลดลง จากปี 2544 ที่มียอดขายตั๋ว 2.57 ล้านใบต่อวันเหลือ 1.03 ล้านใบต่อวัน ซึ่งมีสาเหตุจากสภาพรถเก่า ทำให้ประชาชนหันไปใช้บริการรถไฟฟ้า รถตู้ รถเอกชนแทนรวมถึงรถเมล์ฟรี ซึ่งโครงการรถเมล์ฟรีจะหมดอายุในวันที่ 30 เม.ย. 2555 ยังมีแนวโน้มที่จะเสนอต่ออายุมาตรการออกไปอีกเพื่อช่วยเหลือประชาชนในขณะนี้

สำหรับแผนฟื้นฟูประกอบด้วย 1.การปรับเส้นทางเดินรถจาก 209 เส้นทางเหลือ 155 เส้นทาง ลดระยะทางวิ่งเฉลี่ยจาก 30 กม.เหลือ 25.7 กม. ทำให้ใช้เวลารอรถน้อยลง คาดว่าภายใน 10 ปีผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นประมาณ 952ล้านคนและรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 25,624 ล้านบาท 2. นำเทคโนโลยีมาใช้เช่นระบบตั๋วร่วม คาดว่าภายใน 10 ปี จะลดพนักงานเก็บค่าโดยสารลง 5,838 คน ลดค่าใช้จ่ายได้ 15,468 ล้านบาท ติดระบบ GPS ลดกำลังนายท่า 277 คนลดค่าใช้จ่ายได้ 734 ล้านบาท

3.จัดหารถใหม่ใช้ NGV 3,183 คัน (รถธรรมดา 1,659 คัน รถปรับอากาศ 1,524 คัน) วงเงิน 13,162.2 ล้านบาท คาดใน10 ปีลดค่าใช้จ่ายได้ 9,839 ล้านบาท และมีรายได้เพิ่มจากค่าโดยสารและโฆษณา 15,000 ล้านบาท ปรับปรุงรถเก่า 353 คันวงเงิน 565.25 ล้านบาท โดยรับการสนับสนุนจากกองทุนพลังงาน 4. ลดพนักงาน จาก 14,755 คนเหลือ 9,000 คน ใน 3 ปี โยขออนุมัติงบประมาณโครงการเกษียณก่อนอายุ 2,772.581 ล้านบาท 5. เจรจากระทรวงการคลังรับภาระหนี้สิน 7.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งได้ให้นโยบายขสมก.พิจารณารับภาระหนี้บางส่วนไว้เอง ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

6.จัดหาอู่โดยสนับสนุนพื้นที่จากหน่วยงานของกระทรวงคมนาคมเพื่อลดค่าใช้จ่าย 7. แยกการบริหารจัดการรถของตัวเองและรถของเอกชน คาดว่าใน 10 ปี จะมีรายได้เพิ่ม2,950 ล้านบาท

***สั่งสนข.เร่งตั๋วร่วม เล็งให้กรุงไทยทำแทน

นายชัชชาติกล่าวถึงความคืบหน้าระบบตั๋วร่วมว่า เบื้องต้นได้หารือกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ แต่เห็นว่า สนข.ไม่ควรทำเองเพราะระบบตั๋วร่วม เป็นการบริหารจัดการด้านการเงิน และต้องมีระบบป้องกันที่รัดกุม ควรให้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเช่น ธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐเช่นกันเป็นผู้ดำเนินการ

ในขณะที่ทางสนข.และกระทรวงคมนาคมจะเป็นกำกับนโยบายแทน จะเหมาะสมกว่า โดยให้สนข.ศึกษาความเป็นไปได้และสรุปโดยเร็ว พร้อมทั้งให้ปรับแผนจาก 4 ปีให้เห็นผลภายใน 1 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น