xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนแนะหาพื้นที่ใหม่ตั้งนิคมฯ กั้นเขื่อนแค่ป้องกันปัญหาระยะสั้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - สภาหอฯ เปิดผลสำรวจความเห็นมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูกรณีน้ำท่วม มองการสร้างเขื่อนรอบนิคมฯ เป็นมาตรการที่ใช้ได้ระยะสั้น 3-5 ปี เพราะหากน้ำท่วมจริง นิคมฯ ก็จะกลายเป็นเกาะ ทำงานกันไม่ได้อยู่ดี ที่สุดโรงงานก็ต้องตัดสินใจหนี แนะหาพื้นที่ใหม่รองรับอนาคตดีกว่า ขณะที่เงินช่วยเหลือก็ตกไม่ทั่วฟ้า “กกร.” ลั่นเขื่อนจะช่วยสร้างความเชื่อมั่น และป้องการลงทุนนับแสนล้านบาท

แหล่งข่าวจากที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า การประชุมกกร.วานนี้ (6 มี.ค.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้นำเสนอผลการสอบถามกับกลุ่มสมาคมการค้าต่อมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูผู้ประกอบการของภาครัฐจากสาเหตุการเกิดอุทกภัย ซึ่งผลสรุปสภาหอฯ เห็นว่า มาตรการภาครัฐในการเยี่ยวยาและฟื้นฟูผู้ประกอบการภายในนิคมอุตสาหกรรม โดยการสนับสนุนการสร้างเขื่อนกั้นน้ำรอบนิคมฯ เป็นมาตรการที่ใช้ได้ในระยะสั้น 3-5 ปี เท่านั้น เพื่อป้องกันน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นใน 1-2 ปีข้างหน้า ซึ่งเห็นว่ารัฐควรวางแผนและศึกษาหาพื้นที่แห่งใหม่สร้างนิคมฯ ในอนาคตและเน้นมาตรการบริหารจัดการมากกว่าเพื่อช่วยฟื้นฟูผู้ประกอบการระยะยาว

“หากน้ำท่วม นิคมฯ ต่างๆ ก็จะกลายเป็นเกาะกลางน้ำ เกิดปัญหาในการขนส่งสินค้าอยู่ดี แม้ว่าจะมีการสร้างเขื่อนล้อมรอบก็ตาม และหากเป็นเช่นนั้น โรงงานก็ต้องมองหาสถานที่ตั้งโรงงานใหม่ ซึ่งอาจจะกระทบต่อการส่งออกในอนาคตได้ จึงเห็นว่าควรจะวางแผนให้ชัดเจนไปเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเห็นว่าการหาที่ใหม่รองรับในระยะสั้นทำได้ยาก” แหล่งข่าวกล่าว

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังระบุว่า มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้น ไม่มีความชัดเจน ไม่เอื้อประโยชน์อย่างจริงจัง เช่น มาตรการยังไม่ครอบคลุมถึงกลุ่มผู้ประกอบการที่น้ำไม่ท่วม แต่ได้รับผลกระทบไม่สามารถประกอบธุรกิจได้ เนื่องจากไม่มีผู้ค้า ไม่มีวัตถุดิบในการผลิต หรือไม่สามารถขนสินค้าได้ เป็นต้น รวมถึงมาตรการชดเชย 5,000 บาท ปัจจุบันก็ยังได้ไม่ครบถ้วน จึงเห็นว่ารัฐจะต้องมีแผนบริหารจัดการทุกด้านที่ชัดเจน

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) กล่าวภายหลังการประชุม กกร.ว่า กรณีที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ฟ้องศาลปกครองกลางให้มีคำสั่งระงับชั่วคราวการก่อสร้างเขื่อนกั้นน้ำรอบนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 11 แห่ง ว่า จะสร้างผลกระทบระยะสั้นต่อนักลงทุน จึงอยากให้ผู้ฟ้องควรเข้าใจสถานการณ์ และทำงานอย่างสร้างสรรค์ เพราะหากเขตเศรษฐกิจเสียหายจะสร้างผลกระทบต่อชุมชนมากกว่า ส่วนเรื่องการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) หากเห็นว่าจำเป็นต้องทำ ก็ควรทำพร้อมกับการก่อสร้างให้เร็วที่สุด

“ส่วนตัวไม่กังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะทุกคนเห็นและเข้าใจความเสียหายที่เกิด และการสร้างเขื่อนกั้นน้ำก็อยู่ในพื้นที่เดิมของเขา รวมทั้งยังเป็นการต่อเติมจากของเดิมที่มีอยู่แล้ว และก็ไม่ได้หมายความว่าปีนี้น้ำจะกลับมาท่วมที่เดิมอีก จึงไม่อยากให้กังวลเกินเหตุ” นายพยุงศักดิ์กล่าว

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เรื่องนี้คงต้องดูถึงผลกระทบ และความเดือดร้อนของชุมชนรอบข้างด้วย เพราะแนวเขื่อนกั้นน้ำรอบนิคมฯ เดิมก็มีอยู่แล้ว หากจะไม่ให้มีการก่อสร้างแนวเขื่อนกั้นน้ำรอบนิคมฯเพิ่ม ก็ต้องดูว่าจะมีวิธีการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นมูลค่าเป็นแสนล้านบาทได้อย่างไร แต่จะถึงขั้นต้องหาพื้นที่การลงทุนใหม่นั้น เห็นว่า คงไม่ใช่เรื่องง่ายนักในระยะสั้นโดยคงจะต้องมองกันในระยะยาว
กำลังโหลดความคิดเห็น