xs
xsm
sm
md
lg

พม่านำคณะเอกชนศึกษาอุตฯ ยานยนต์ เผยต้องการนำเข้ากระบะ 8 หมื่นคัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พม่านำคณะเอกชน 40 ราย เดินทางศึกษาอุตฯ ยานยนต์ของไทย พร้อมต้องการนำเข้ารถกระบะจากไทย 8 หมื่นคันต่อปี ขณะที่ปัจจุบัน พม่ามีรถยนต์ในประเทศอยู่จำนวน 3.8 แสนคัน เกือบ 90% เป็นรถมือ 2 ที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น และมีการใช้งานมามากกว่า 5 ปี พม่าจึงมีความต้องการรถยนต์อย่างมาก

นายมู โจ รองเลขาธิการสภาอหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ เปิดเผยว่า ได้นำคณะนักลงธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์จำนวน 40 คน ทั้งผู้ประกอบรถยนต์ ผู้แทนจำหน่าย และผู้ผลิตซื้อขายชิ้นส่วนรถยนต์มาศึกษาอุตสาหกรรมยานยนต์ในเมืองไทย ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เอกชนของพม่ามาศึกษาเรื่องอุตสากรรมนอกประเทศ โดยพม่ามีความต้องการที่จะนำเข้ารถกะบะจากไทยในจำนวน 6-8 หมื่นคันต่อปี หลังจากที่รัฐบาลพม่าได้ผ่อนคลายกฎระเบียบ และอนุญาตให้สามารถนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศเข้าไปขายในพม่าได้จำนวน 8 หมื่นคันต่อปี

ปัจจุบันประเทศพม่ามีรถยนต์อยู่จำนวน 3.8 แสนคัน 90% เป็นรถมือ 2 ที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น และมีการใช้งานมามากกว่า 5 ปี พม่าจึงมีความต้องการรถยนต์อย่างมาก ซึ่งเมืองไทยเป็นประเทศที่มีความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์กับพม่า และเป็นแหล่งผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุด จึงต้องการที่จะเข้ามาดูลู่ทางทางธุรกิจ ซึ่งการเดินทางในครั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้ช่วยประสานงานให้ได้พบกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย และได้เข้าเยี่ยมชมโรงงานผลิตรถยนต์โตโยต้า และอีซูซุ

ทั้งนี้ ทางพม่าพร้อมที่จะนำเข้ารถยนต์จากประเทศไทยทันที โดยให้ทางผู้ผลิตรถยนต์เสนอราคาเข้าไปผ่านทางผู้แทนจำหน่าย (ดีลเลอร์) ของพม่าที่มีอยู่กว่า 40 ราย เป็นผู้กระจายสินค้าให้ แต่ทางผู้ผลิตยังไม่สามารถเสนอราคาให้ได้ เนื่องจากต้องรอการตัดสินใจจากบริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่นก่อน โดยภาษีนำเข้ารถยนต์ของประเทศพม่าอยู่ในอัตรา 165%

“ปกติพม่านำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์จากทั้งไทยและจีน ส่วนรถยนต์ก็นำเข้าจากญี่ปุ่น ซึ่งไทยอยู่ใกล้ชิดกับพม่าน่าจะสามารถรถนำเข้ารถยนต์ได้ใกล้กว่า ส่วนชิ้นส่วนก็ต้องการที่จะนำเข้าจากไทยมากกว่าจีน แม้ว่าราคาของไทยจะแพงกว่า เพราะไทยเป็นประเทศเพื่อนบ้าน จึงเข้ามาศึกษาอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย”

นายมู โจ กล่าวว่า การนำเข้าสินค้าจากไทยไปพม่าโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 800 ล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี ผ่านทางการค้าชายแดน ซึ่งไทยเป็นประเทศที่พม่านำเข้าสินค้าเป็นอันดับ 2 รองจากจีน และสินค้าที่พม่ามีความต้องการจากไทยมาก ได้แก่ สินค้าอาหาร และสินค้าอุปโภคบริโภค โดยปัจจุบันรัฐบาลพยายามผ่อนคลายกฎระเบียบให้เอื้อต่อการค้าขายระหว่างประเทศ รวมถึงการอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนในพม่าได้

นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ทางสภาอหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ได้นำผู้แทนจากบริษัทชิ้นส่วนยานยนต์จากพม่าจำนวน 37 ราย มาจับคู่ธุรกิจกับบริษัทของไทยจำนวน 24 ราย ซึ่งคาดว่าน่าจะเกิดมูลค่าการซื้อขาย 1,800 ล้านบาท เป็นช่องทางการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยไปพม่าอีกทางหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น