สภาอุตสาหกรรมด้านการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน พบ “มาร์ค” ยันไม่ย้ายฐานหนีจากไทย เรียกร้องประกันภัย เร่งสำรวจความเสียหายพร้อมจ่ายเงินชดเชย เพื่อเดินหน้าผลิตสินค้าให้เร็วที่สุด
ที่พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้ (29 พ.ย.) นายวีระชัย วีระเมธีกุล ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายภาคธุรกิจ กล่าวภายหลังนำตัวแทนสภาอุตสาหกรรมด้านการผลิตยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ รวมทั้งนายกสมาคมผู้ผลิตรถยนต์ไทย เข้าพบ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นก่อนที่จะมีการฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมที่ประสบอุทกภัย อาทิ เรื่องการแก้ปัญหาระยะยาว คือเรื่องที่ว่าต่อไปในอนาคตทางไทยจะทำอย่างไรจะสามารถรักษาฐานการผลิตของรถยนต์ของประเทศไทยให้เป็นแหล่งผลิตที่สำคัญ มีการตั้งเป้าหมายว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 10 และจากที่ฟังพบว่าเขาค่อนข้างมั่นใจ ในระยะยาวที่เราจะสามารถทำตรงนั้นได้และเมื่อไปถึงจุดดังกล่าวแล้วจะต้องดูในเรื่องระบบ เรื่องลอจิสติกส์ เรื่องซัปพลายเชน ที่เป็นเรื่องระยะยาว
นายวีระชัยกล่าวว่า ในส่วนระยะสั้นที่มีการพูดถึงคือมีความเป็นห่วงว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้ฐานการผลิตกลับมาดำเนินการผลิตได้เร็วที่สุด นอกจากนี้ยังมีพูดถึงการประกันภัย อย่างเมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่บรรดาสมาคมประกันวินาศภัยเข้าพบและได้มีการหารือก็ได้กล่าวถึงเรื่องการสำรวจความเสียหาย ที่ว่าจะทำอย่างไรให้นักสำรวจความเสียเข้ามาดำเนินการสำรวจความเสียหายให้เร็วที่สุดแล้วทำการประเมินความเสียหายได้ทันที เพราะหากมีการประเมินได้เร็ว ทางประกันภัยก็สามารถที่จะจ่ายเงินค่าความเสียหายได้ และทำอย่างไรที่จะให้ทางบริษัทประกันภัยสามารถจ่ายเงินประกันความเสียหายให้กับแต่ละโรงงงานได้ก่อน เพราะที่ผ่านโรงงานในอยู่ในนิคมฯ ต่างๆ ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมเป็นจำนวนเท่าไร โดยไม่ต้องรอการสำรวจ อย่างที่กล่าวคืออาจจะมีการจ่ายไปก่อนโดยไม่จำเป็นว่าต้องจ่ายตลบทั้ง 100%
จากที่หารือกับทางสมาคมประกันภัยต่างก็มีความยินดี โดยเขาเองก็บอกว่าต้องการรีบจ่าย เพราะหากไม่รีบจ่ายก็จะมีความเสียหายได้ เนื่องจากว่าหากมีการจ่ายเร็วทุกอย่างก็จะกลับมาเร็ว โดยตัวแทนสภาอุตสาหกรรมผู้ผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ กล่าวว่า สิ่งที่ได้รับความเสียหายมากคือเครื่องจักร ในบางส่วนจะเป็นเรื่องอาคาร แต่ที่มากที่สุดคือเครื่องจักร
นายวีระชัยกล่าวว่า ในเรื่องการย้ายฐานการผลิตนั้น เท่าที่หารือกันยังไม่มีเรื่องนี้ เพราะเห็นว่า ประเทศไทยยังเป็นฐานการผลิตที่สำคัญได้ในอนาคต แต่ภาครัฐและภาคเอกชนคงจะต้องร่วมมือกันจัดการในอีกหลายเรื่อง อาทิ เรื่องน้ำท่วม หากปีหน้ายังมีน้ำท่วมอีกจะมีความเสียหายแบบนี้เกิดขึ้นอีกหรือไม่ รัฐบาลจะมีแผนป้องกันอย่างไร
นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงเรื่องลอจิสติกส์ เรื่องซัปพลายเชน ว่าทำอย่างไรให้ตรงนี้ สามารถอยู่และแข่งขันได้ อย่างบางโรงงานน้ำท่วมผลิตไม่ได้ แต่บางโรงงานน้ำไม่ท่วมแต่ผู้ผลิตชิ้นส่วนที่จะต้องส่งสินค้ามาให้เกิดปัญหาน้ำท่วม หรือบางโรงงานยังสามารถทำทุกอย่างได้ แต่ตัวแทนจำหน่ายเกิดน้ำท่วม ทำให้ขายของไม่ได้ ดังนั้น ความเสียหายในแต่ละกลุ่มไม่เหมือนกัน แต่ภาคอุตสาหกรรมที่เสียหายมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมเกี่ยวกับรถยนต์และชิ้นส่วน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมเกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์