xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ไฟเขียว “ฮอนด้า” นำเข้ารถยนต์โดยไม่เสียภาษี 8 เดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล (แฟ้มภาพ)
“หมอวรรณรัตน์” เผย ครม.เห็นชอบยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร รถยนต์สำเสร็จรูป ชิ้นส่วนรถยนต์ แก่ผู้ประกอบการที่ประสบอุทกภัย ตั้งแต่ 25 ต.ค.45 ถึง 30 มิ.ย.55 โดยมีค่ายรถยนต์ฮอนด้ารายเดียวที่เข้าเกณฑ์

วันนี้(29พ.ย.) เมื่อเวลา 11.30 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล น.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ว่า ครม.มีมติเห็นชอบยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรรถยนต์สำเร็จรูป ชิ้นส่วนรถยนต์ สำหรับบริษัทที่ประสบอุทกภัย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ กำหนดระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค.54-30 มิ.ย.55 โดยกำหนดให้เครื่องจักรที่นำเข้าต้องเป็นชนิดเดียวหรือใกล้เคียงกับที่ผลิตในประเทศ รวมถึงจำนวนต้องไม่เกินที่ผลิตได้ในประเทศ และให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เป็นผู้พิจารณาอนุมัติ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในปี’55 ธุรกิจประกอบรถยนต์จะสามารถฟื้นตัวได้

“ขณะนี้ มีบริษัทผลิตรถยนต์ที่เข้าข่ายได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรรถยนต์สำเร็จรูป ชิ้นส่วนรถยนต์ ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเพียงรายเดียว คือ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด”น.พ.วรรณรัตน์ กล่าว

ด้าน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า หลักการเรื่องการให้นำเข้าเครื่องจักรนั้น หากเกิดขึ้นเพราะผู้ประกอบการดำเนินการโดยสุจริต และได้รับผลกระทบจากอุทกภัย รัฐบาลก็ควรอำนวยความสะดวกให้กับบริษัท โดยสามารถยกเว้นภาษีนำเข้าและชิ้นส่วน ซึ่งไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นชิ้นส่วนเฉพาะรถยนต์เท่านั้น

“ชิ้นส่วนอะไรก็แล้วแต่ที่เป็นกระบวนการผลิตในประเทศได้รับผลกระทบ ก็ควรได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าให้ผู้ประกอบการ เพราะเหตุผลในแง่ผู้ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องจะได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ ดังนั้น ในหลักการจึงได้พิจารณาอนุมัติทั้งในส่วนของเครื่องจักร ชิ้นส่วนสินค้าสำเร็จรูปที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย”นายกิตติรัตน์ กล่าว

นายกิตติรัตน์ กล่าวอีกว่า จากการเดินทางเข้าพบนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่น และนักธุรกิจของประเทศญี่ปุ่น ได้สอบถามถึงการวางแผนบริหารจัดการระบบน้ำในระยะยาวของไทย ซึ่งตนได้ชี้แจงว่า การปรับโครงสร้างพื้นฐานในระยะยาวของไทย ไม่ได้ทำเฉพาะเรื่องน้ำเท่านั้น แต่จะทำเรื่องการเชื่อมเส้นทางพิเศษจากตะวันออกไปทางตะวันตก ในเขตอุตสาหกรรมทวาย ของพม่า และจากเหนือลงใต้ เชื่อมจากจีนตอนใต้ ถึงกรุงเทพมหานคร ไปจนถึงด้านล่างของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย ซึ่งญี่ปุ่นพร้อมที่จะทำงานร่วมกับไทย เพราะจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจในภูมิภาค

นอกจากนี้ ภาคธุรกิจของญี่ปุ่น ยังขอให้ไทยยกเว้นภาษีนำเข้าอะไหล่ต่างๆ รวมถึงการนำเข้าผู้เชี่ยวชาญและวิศวกร โดยให้ไทยอำนวยความสะดวกเรื่องวีซ่า ซึ่งไทยได้ยืนยันแล้วว่า จะอำนวยความสะดวกให้ เพื่อให้นักลงทุนญี่ปุ่นสบายใจ รวมทั้งตนได้ชี้แจงกรณีที่นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) เดินทางไปหารือกับบริษัทประกันภัยรายใหญ่ของโลกว่า บริษัทประกันภัยยังยืนยันที่จะรับประกันภัยต่อ เพราะลูกค้าประกันภัยในไทยถือเป็นลูกค้ารายใหญ่

ทั้งนี้ แผนบริหารจัดการน้ำจะยึดสองแผนเป็นหลัก คือ แผนขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของประเทศญี่ปุ่น (ไจก้า) และแผนของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้ทำไว้เมื่อเดือน ต.ค.2543 ซึ่งมีความสอดคล้องกัน 80% ซึ่งขณะนี้คณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์น้ำ ได้แบ่งระยะทำงานออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะทันที และระยะยาว โดยขณะนี้กำลังคุยเรื่องการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำ คาดว่าภายใน 2 สัปดาห์ จะเหลือแผนบริหารจัดการเพียงแผนเดียว เพื่อใช้ในการดำเนินงาน

“ยอมรับว่าการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบน้ำ คงต้องเกี่ยวข้องกับการย้ายสิ่งที่กีดขวางทางน้ำ หรือที่อยู่อาศัยที่ไม่ถูกต้องบ้าง แต่ถ้าจะย้ายอะไร ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะไม่ทำให้ผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ปกติของคน อะไรไม่จำเป็นก็อย่าไปย้าย แต่ถ้าจำเป็นก็ต้องดำเนินการ เช่น คลองบางแห่งมีคนบุกรุกจนระบายน้ำไม่ได้ เส้นทางระบายน้ำบางแห่ง มีการสร้างที่อยู่อาศัยจำนวนมากนัก และอาจจำเป็นต้องเลือกเส้นทางใดเส้นทางหนึ่ง ก็อาจมีคนได้รับผลกระทบบ้าง แต่คำถามว่าจะย้ายนิคมอุตสาหกรรมหรือไม่ คงไม่มีเหตุผลต้องทำ เพราะถ้าทำแล้วไปส่งผลกระทบต่อสิ่งก่อสร้างที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง ก็เลี่ยงได้ เอาเป็นว่าถ้ามีทางเลือกก็ต้องทำให้มีผลกระทบต่อคนน้อยที่สุด”นายกิตติรัตน์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น