xs
xsm
sm
md
lg

ไทย-พม่า จับมือขยายการค้า-การลงทุน คาด อุตฯ ยานยนต์ดัน ศก.สองชาติขยายตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“บีโอไอ” เตรียมต้อนรับคณะนักธุรกิจ สภาหอการค้า และสภาอุตฯจากพม่า เดินทางดูงานในไทย เตรียมจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ หวังให้ไทยเป็นฐานผลิต และส่งออกชิ้นส่วน ยานยนต์ป้อนตลาดในพม่า นักวิชาการ ชี้ ศก.ไทยจะได้รับอานิสงส์ หากพม่าเปิดประเทศมากขึ้น

นางวาสนา มุทุตานนท์ ผู้อำนวยการสำนักความร่วมมือการลงทุนต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 13-16 กุมภาพันธ์ 2555 คณะของสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งสหภาพพม่าจำนวน 30 คน นำโดย Mr.U Zan Min Win รองประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งสหภาพพม่า จะเดินทางมาเยือนประเทศไทย เพื่อประชุมหารือร่วมกับสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย (TAPM) กลุ่มอุตสาหกรรม ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และมีกำหนดการเยี่ยมชมศูนย์ กลางซื้อ-ขายชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ ย่านวรจักร ด้วย

นอกจากนี้ บีโอไอจะนำคณะนักธุรกิจพม่าไปชมโรงงานผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์พร้อมจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) คณะนักธุรกิจพม่ากับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย และหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับ โอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ โอกาสการร่วมมือในการส่งเสริมการลงทุนไทยในพม่า และแผนกิจกรรมในปี 2555 ให้กับคณะนักธุรกิจของพม่าด้วย

ทั้งนี้ คณะผู้แทนคณะใหญ่จากพม่าที่มาจะเป็นกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน ที่ต้องการเข้ามาหาตัวแทนจำหน่ายเพื่อส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนไปพม่า หลังจากที่พม่าได้เปิดประเทศอย่างเป็นทางการ ทำให้เศรษฐกิจเติบโตในทางบวก จึงเป็นโอกาสของผู้ผลิต ชิ้นส่วนไทยที่จะใช้โอกาสนี้สร้างพันธมิตร ทางการค้า

นางวาสนา กล่าวเพิ่มเติมว่า พม่ากำลังเป็นประเทศที่จะมีเศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด เพราะมีจุดเด่นในด้านทรัพยากรธรรมชาติมากมาย อาทิ ทองคำ น้ำมัน อัญมณี และแหล่งท่องเที่ยว ส่งผลให้หลายประเทศในเอเชีย อย่าง สิงคโปร์ มาเลเซีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมทั้งประเทศสหรัฐอเมริกา ให้ความสนใจ

ทั้งนี้ จากสถิติของรัฐบาลพม่า ระบุว่า จีนเป็นประเทศที่เข้าไป ลงทุนในพม่าเป็นอันดับหนึ่ง โดยมี มูลค่าการลงทุนประมาณ 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเทียบเท่า 35 เปอร์เซ็นต์ ของการลงทุนจากต่างประเทศที่เข้าไปลงทุนในพม่าทั้งสิ้น โดยเฉพาะด้านพลังงานก๊าซ น้ำมัน และเหมืองแร่ รวมไปถึงการสร้างเขื่อนในพม่า เพื่อนำพลังงานไฟฟ้าไปใช้ใน ประเทศจีน ขณะที่ ประเทศญี่ปุ่น และเกาหลี ซึ่งอยู่ใน กลุ่มประเทศอาเซียน+3 เป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ใน 3 อันดับต้นๆ ที่มีการลงทุนในพม่ามากที่สุด ส่วนสิงคโปร์เป็นกลุ่มทุนในอันดับที่ 4 และประเทศไทยกับเวียดนามจัดอยู่ในอันดับที่ 5

ขณะที่นักวิชาการ และตัวแทนภาคธุรกิจ ส่วนหนึ่งมองว่า พม่ากำลังเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น เห็นได้จากการขยายโอกาสให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศมากขึ้น รวมถึงการเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจพลังงาน ที่นักลงทุนของไทยสนใจไปลงทุนมากขึ้น ขณะเดียวกันมองว่า การเติบโตของพม่าจะเป็นส่วนส่งเสริมเศรษฐกิจไทย ที่ขณะนี้กำลังมีปัจจัยอุปสรรคอยู่มาก

สัดส่วนการลงทุน จะพบว่า นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในพม่ามากขึ้น รองจากประเทศจีน ที่เป็นผู้ลงทุนมากที่สุด โดยธุรกิจที่นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนกันมากที่สุด คือ พลังงาน รองลงมาได้แก่ ก๊าซ น้ำมัน การเกษตร อาหารแปรรูป และโรงแรม

ทั้งนี้ โครงการที่สำคัญของพม่าและภูมิภาค คือ โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก และนิคมอุตสาหกรรมทวาย ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ใหญ่กว่านิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดถึง 20 เท่า หากเชื่อมต่อเส้นทางแล้วเสร็จ ไทยจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์

แม้พม่าจะอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ แต่ยังมีอุปสรรคด้านการค้า การลงทุน เช่น อัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งพม่ากำลังเร่งแก้ปัญหานี้ ส่วนปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง และปัญหาชนกลุ่มน้อย และโครงสร้างพื้นฐานที่ยังด้อยพัฒนา เป็นปัญหาต่อการผลักดันเศรษฐกิจของพม่า ทั้งนี้ ปีที่แล้ว พม่ามีอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 5.3 ซึ่งเป็นอัตราที่น้อยกว่าประเทศลาว กัมพูชา และเวียดนาม แต่กลับมีอัตราเงินเฟ้อสูงที่สุด คือ ร้อยละ 8.5
กำลังโหลดความคิดเห็น