xs
xsm
sm
md
lg

จ้องถือหุ้นใหญ่แทปไลน์ดันโปรเจกต์วางท่อน้ำมัน ปตท.เร่งสรุปภายใน 1 เดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปตท.เร่งศึกษาความเป็นไปได้ในการซื้อหุ้นแทปไลน์ คาด 1 เดือนได้ข้อสรุป โดยวางเป้าหมายถือหุ้นเกิน 50% โดยจะดำเนินการปรับโครงสร้างธุรกิจแทปไลน์ใหม่เปิดทางให้บริการขนส่งน้ำมันทางท่อนอกเหนือผู้ถือหุ้นได้ และดันโปรเจกต์วางท่อน้ำมันไปเหนือและอีสาน ให้แทปไลน์ลุยแทน ส่วนแผนการลงทุนในประเทศอาเซียน ใช้โมเดลแบบมาบตาพุด ส่วนการลงทุนในพม่าคาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้

นายสรัญ รังคสิริ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ปตท.อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าไปซื้อหุ้นบริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด (แทปไลน์) คาดว่า จะได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือนนี้ โดย ปตท.ต้องการถือหุ้นใหญ่ในแทปไลน์เกิน 50% จากปัจจุบันที่ ปตท.ถือหุ้นอยู่ 33.19% และบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) 9.19% เพื่อความคล่องตัวในการบริหารงาน หลังจาก ปตท.ถือหุ้นใหญ่ในแทปไลน์แล้ว จะดำเนินการปรับโครงสร้างการทำธุรกิจใหม่จากเดิมที่บริการขนส่งน้ำมันทางท่อเฉพาะผู้ถือหุ้นเปลี่ยนเป็นเปิดให้บริการขนส่งน้ำมันทางท่อกับรายอื่นๆ ด้วย

ที่ผ่านมา แทปไลน์ยังให้บริการขนส่งน้ำมันทางท่อไม่เต็มกำลังการผลิต เนื่องจากการขนส่งน้ำมันทางรถบรรทุกยังสามารถแข่งขันได้อยู่และให้บริการเฉพาะผู้ถือหุ้นเท่านั้น โดยรูปแบบการเข้าไปถือหุ้นใหญ่ในแทปไลน์นั้น อาจซื้อหุ้นผ่านทาง ปตท.หรือไทยออยล์ก็ได้ โดยแทปไลน์จะมีการเพิ่มทุนจดทะเบียนหรือไม่ก็ได้

สาเหตุที่บริษัทสนใจถือหุ้นใหญ่ในแทปไลน์เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนดีแต่การลงทุนใช้เงินลงทุนสูงมาก ที่ผ่านมา แทปไลน์กู้ยืมเงินนับหมื่นล้านบาทเพื่อลงทุนโครงการขนส่งน้ำมันทางท่อ ทำให้ขาดสภาพคล่อง ล่าสุด ภาระหนี้สินของแทปไลน์ลดลงมาก คาดว่าจะชำระคืนหนี้ทั้งหมดได้ภายใน 2 ปีนี้ หลังจากนั้น แทปไลน์จะเริ่มมีผลการดำเนินงานกำไรดีขึ้นโดยรัฐมนตรีพลังงานคนก่อนมีนโยบายให้ ปตท.เข้ามาถือหุ้นใหญ่ในแทปไลน์หลังเกิดบทเรียนปัญหาอุทกภัยทำให้การขนส่งน้ำมันทางรถบรรทุก และรถไฟทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งมองว่าการขนส่งน้ำมันทางท่อจะเป็นหนทางที่สำคัญในการขนส่งน้ำมันไปยังภาคเหนือและอีสานได้

ทั้งนี้ ปตท.มีการศึกษาการวางท่อส่งน้ำมันไปยังภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ มูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งหาก ปตท.ถือหุ้นใหญ่ในแทปไลน์แล้วก็อาจจะให้แทปไลน์เป็นผู้ลงทุนโครงการดังกล่าว เพื่อให้แทปไลน์ลงทุนธุรกิจวางท่อขนส่งน้ำมันเพียงรายเดียวจะได้ไม่มีปัญหาเรื่องการคำนวณค่าบริการขนส่งน้ำมันทางท่อ แต่อย่างไรก็ตาม รูปแบบการลงทุนว่าจะเป็น ปตท.หรือแทปไลน์นั้นคงต้องรอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นแทปไลน์อนุมัติให้ ปตท.เข้าซื้อหุ้นเพิ่มเติมก่อน โครงสร้างการถือหุ้นแทปไลน์ ประกอบด้วย ปตท. 33.19% บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) 9.19% เอสโซ่ 20.66% เชลล์ 14.87% เชฟรอน 9.91% คูเวตปิโตรเลียม 4.96% ปิโตรนาส 3.97% และ บีพี 3.24%

นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแผนการลงทุนของกลุ่ม ปตท.ในอาเซียน ว่า กลุ่ม ปตท.สนใจทำโครงการลักษณะใกล้เคียงกับนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยมีโรงแยกก๊าซฯและโรงกลั่นน้ำมันต่อยอดไปทำปิโตรเคมี ซึ่งมีหลายพื้นที่ที่น่าสนใจ อาทิ อินโดนีเซีย เวียดนาม พม่า กัมพูชา ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของปตท. ซึ่งมีการลงทุนมาก่อนหน้านี้แล้ว และอีกส่วนที่น่าสนใจคือ ปอเมริกาเหนือที่ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียมเข้าไปลงทุนโครงการออยล์ แซนด์ เคเคดี ในแคนาดา

สำหรับการเข้าไปซื้อกิจการ (M&A) นั้น นายณัฐชาติ กล่าวว่า บริษัทยังคงศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการลงทุนในพม่า คาดว่า จะได้ข้อสรุปเร็วๆนี้ ที่ผ่านมา ปตท.เคยลงทุนในพม่ามาก่อนหน้านี้แล้ว และปัจจุบันโอกาสเปิดให้ปตท.เข้าไปลงทุนในหลายประเทศ

นายสรัญ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบัน ปตท.ส่งน้ำมันไปจำหน่ายในประเทศพม่าผ่านชายแดนทั้งระนอง แม่สอดและเชียงราย ซึ่งปัจจุบันพม่านำเข้าน้ำมันจากไทยคิดเป็น 10% ของปริมาณการใช้ทั้งหมด ซึ่งเป็นปริมาณที่ไม่สูงมาก เนื่องจากน้ำมันส่วนใหญ่พม่านำเข้าจากโรงกลั่นสิงคโปร์ และราคาขายปลีกน้ำมันในพม่าค่อนข้างสูง เพราะมีโครงสร้างภาษีมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น