xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีผลผลิตอุตฯ ธ.ค.54 วูบ 25.8% กำลังการผลิตหายกว่าครึ่ง ม.ค.พบสัญญาณฟื้นตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สศอ.เผย ดัชนีผลผลิตอุตฯ เดือน ธ.ค.54 ลดลง 25.8% ระบุ 5 กลุ่มหลัก ได้รับผลกระทบหนักจากน้ำท่วม ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเหลือแค่ 52.31% พร้อมคาดเดือน ม.ค.มีสัญญาณฟื้นตัว จากอุตฯ บางกลุ่ม ขณะที่ “ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์-เครื่องปรับอากาศ” ยังชะลอตัว

นายอภิวัฒน์ อสมาภรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) เดือนธันวาคม 2554 ลดลง 25.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากมหาอุทกภัยครั้งร้ายแรงของประเทศ ผู้ผลิตต่างได้รับความเสียหายกันถ้วนหน้า ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 52.3%

โดย MPI ในเดือนนี้มีสัญญาณการฟื้นตัวเกิดขึ้น เนื่องจาก MPI ติดลบน้อยลง และกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น (MPI และอัตราการใช้กำลังการผลิตพฤศจิกายน -47.3% และ 40.5% ตามลำดับ) โดยอุตสาหกรรมหลักที่ทำให้ MPI ติดลบ ประกอบด้วย ยานยนต์, ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องปรับอากาศ

ด้านการผลิตรถยนต์ เมื่อเทียบเดือนเดียวกันของปีมีการผลิตและจำหน่าย ลดลง -30.4% และลดลง 30.9% ตามลำดับ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศ จึงไม่สามารถส่งชิ้นส่วนรถยนต์ให้กับผู้ผลิตรถยนต์ได้

ส่วนการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ (Hard disk drive) เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่าย ลดลง -55.7%และ -60.5% ตามลำดับ เนื่องจากวิกฤติน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่ท่วมนิคมอุตสาหกรรมซึ่งเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของประเทศได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก จึงส่งผลต่อยอดการผลิตและจำหน่ายดังกล่าว

ซึ่งปกติช่วงเดือนไตรมาสสุดท้ายของปีจะเป็นช่วงที่เร่งผลิตเพื่อให้สามารถปิดยอดบัญชีตามที่ตั้งเป้าไว้ แต่เมื่อเกิดวิกฤตน้ำท่วมในปี 2554 อุตสาหกรรมการผลิต Hard disk drive จึงเสียโอกาสในการทำสถิติยอดการผลิตใหม่อย่างน่าเสียดาย

การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่าย ลดลง -55.9% และ -58.6% ตามลำดับ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมโรงงานผลิตในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและปทุมธานี เช่นกัน

การผลิตเครื่องปรับอากาศ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่าย ลดลง -45.8% และ -52.2% ตามลำดับ เนื่องจากวิกฤติน้ำท่วมทำให้ซัปพลายเชน (Supply Chain) ไม่สามารถขนส่งชิ้นส่วนในการผลิตได้ เนื่องจากโรงงานหลายแห่งที่ตั้งอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ขณะที่สภาพอากาศแปรปรวนไปทั่วโลกส่งผลต่อคำสั่งซื้อที่ลดลงด้วยเช่นกัน เนื่องจากฤดูร้อนในบางประเทศที่เป็นผู้นำเข้าสำคัญสั้นลง ทำให้ความต้องการใช้เครื่องปรับอากาศลดลงตามไปด้วย

การผลิตน้ำดื่มบรรจุขวด เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้น 12.9% และ 13.6% ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคมีสูงขึ้นหลังภาวะน้ำลดที่ต้องการดื่มน้ำสะอาดผ่านกระบวนการผลิตที่ทันสมัยเพิ่มมากขึ้น

การผลิตปูนซีเมนต์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้น 1.3%และ 4.9% ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้น เพื่อใช้ในการซ่อมแซมบ้านเรือนหลังน้ำลด และคาดว่า จะมียอดการผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกหลายเดือน

นายอภิวัฒน์ ยังสรุปตัวเลข MPI เดือนธันวาคม 2554 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนว่า ดัชนีผลผลิต (มูลค่าเพิ่ม) อยู่ที่ระดับ 139.78 ลดลง 25.80% จากระดับ 188.38 ดัชนีการส่งสินค้า อยู่ที่ระดับ 141.18% ลดลง 27.17% จากระดับ 193.84 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง อยู่ที่ระดับ 176.38 เพิ่มขึ้น 1.95% จากระดับ 173.01 ดัชนีแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 106.78 ลดลง 9.42% จากระดับ 117.89 ดัชนีผลิตภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 146.74 ลดลง 0.59% จากระดับ 147.61 และ อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 52.31%
กำลังโหลดความคิดเห็น