xs
xsm
sm
md
lg

สหภาพฯ ต้านรัฐขาย ปตท.ห่วงเปิดทาง “กลุ่มทุน-การเมือง” เข้าฮุบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สหภาพแรงงาน ปตท.ต้นแนวคิด “วีรพงษ์” ขายหุ้น ปตท.พ้นความเป็น รสก.เพื่อลดหนี้สาธารณะ ห่วงในอนาคต “กลุ่มทุน-การเมือง” เตรียมแผนรุกคืบเข้าฮุบ การตรวจสอบต่างๆ โดย ปชช.อาจลดลง ทำให้กลไกหลักในการดูแลราคาพลังงาน ทั้ง แอลพีจี เอ็นจีวี และน้ำมัน ก็จะหายไป เพราะต้องอยู่ภายใต้ กม.แข่งขันทางการค้า

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแนวคิดการขายหุ้น 2 รัฐวิสาหกิจ เพื่อลดภาระหนี้สาธารณะของรัฐบาล โดยให้กองทุนวายุภักษ์เข้ามาถือหุ้นแทน เรื่องดังกล่าว ตนเองมองว่า เป็นนโยบายของรัฐบาลซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งหากดำเนินการ ปตท.ก็ต้องทำความเข้าใจกับพนักงาน และหาแนวทางบรรเทาผลกระทบ ทั้งในส่วนของความมั่นคงและสวัสดิการพนักงาน

นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาว่าการออกหุ้นกู้ล็อตใดบ้าง ที่จะได้รับผลกระทบจากกรณีนี้ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา ปตท.มีการออกหุ้นกู้ที่เกี่ยวกับการเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยคาดว่าจะมีประมาณร้อยละ 30-40 ของวงเงินหุ้นกู้ทั้งหมด โดยบางส่วนอาจจะต้องคืนเงินให้กับผู้ถือหุ้นกู้ ซึ่ง ปตท.สามารถบริหารจัดการได้ รวมถึงต้องพิจารณาว่าการลดถือหุ้นของรัฐบาลจะกระทบต่ออันดับเครดิตของ ปตท.ด้วยหรือไม่ แต่เชื่อว่าจะไม่มากนัก เพราะฐานะการเงินของ ปตท.แข็งแกร่ง และที่ผ่านมา รัฐบาลไม่ได้ค้ำประกันเงินกู้หนี้แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม หากกลุ่ม ปตท.กลายเป็นบริษัทเอกชน ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายของภาคเอกชน เช่น กฎหมายการแข่งขันทางการค้า ขณะที่การจะควบรวมกิจการนั้น ยังต้องพิจารณาข้อกฎหมายให้มากขึ้นกว่าเดิมด้วย พร้อมระบุว่า การพ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ ก็จะมีส่วนดี เพราะทำให้ ปตท.มีความคล่องตัวในการทำงาน

น.ส.อัปสร กฤษณะสมิต ประธานสหภาพแรงงาน ปตท.กล่าวว่า ทางสหภาพในอีเมลสอบถามความเห็นจากพนักงาน พบว่า ผู้ที่ตอบมารวมทั้งจากการพูดคุยส่วนตัว พนักงานไม่ค่อยเห็นด้วยกับการขายหุ้น ปตท.ของรัฐบาล เพราะยังไม่เข้าใจว่า ทำไมรัฐบาลจึงจำเป็นต้องดำเนินการในลักษณะเช่นนี้ และเป็นเพียงมุมมองเดียวของ นายวีรพงษ์ รามางกูร หรือไม่ เพราะถ้า ปตท. พ้นความเป็นรัฐวิสาหกิจ การตรวจสอบต่างๆ โดยประชาชนก็จะลดลง

โดยที่ผ่านมา ปตท.จะถูกตรวจสอบทั้งจากผู้ถือหุ้น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และกลไกของกระทรวงการคลัง ซึ่งถือได้ว่า ประชาชนได้ตรวจสอบตามกฎหมายของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีหลายด้านรวมทั้งกฎหมาย ป.ป.ช.โดยในส่วนของพนักงานที่ไม่เห็นด้วย เกรงว่า กลุ่มทุนจะคืบคลานเข้ามาหาผลประโยชน์ และในอนาคตกองทุนวายุภักดิ์อาจถูกขายไปสู่กลุ่มทุน รวมทั้งกลุ่มการเมือง ดังนั้น รัฐบาลน่าจะหาวิธีอื่นในการแก้ไขปัญหาเพดานหนี้สาธารณะ

“ส่วนตัวไม่ห่วงเรื่องสวัสดิการ เพราะเชื่อว่า แม้จะมีการโยกการถือหุ้นของ ปตท.แต่สวัสดิการก็จะไม่เปลี่ยนไป แต่ห่วงอำนาจของรัฐ หรืออำนาจประชาชน ที่เคยใช้ ปตท.เข้ามาเป็นกลไกในการดูแลราคาพลังงาน เช่น กรณีแอลพีจี เอ็นจีวี หรือราคาน้ำมัน ก็จะหายไปด้วย เพราะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายทางการค้า ซึ่งส่วนนี้อยากให้ประชาชนเข้ามาตรวจสอบว่า เป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่”

ด้าน นายณัฐกร แก้วดี กรรมการสหภาพฯ ปตท.และอดีตประธานสหภาพ ช่วงการแปรรูป ปตท.กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยการขายหุ้นดังกล่าว เพราะในช่วงการแปลงสภาพ ตนอยู่ในคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท ปตท.ในช่วงนั้นรัฐบาลให้คำมั่นสัญญาว่าจะให้ ปตท. คงความเป็นรัฐวิสาหกิจ รัฐจะถือหุ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 51 ซึ่งหากจะมาเฉือนหุ้นออกขาย ก็จะกลายเป็นบริษัทเอกชน พนักงานส่วนใหญ่เป็นห่วงเรื่องความมั่นคง เพราะสภาพการจ้างงานก็จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ปัจจุบัน ปตท.มีพนักงาน 3,500 คน และอยากให้ วีระพงษ์ ชี้แจงว่า มีแนวทางอื่นหรือไม่ในการแก้หนี้สาธารณะ และควรหารือ และชี้แจงพนักงานมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น