xs
xsm
sm
md
lg

คาด ศก.ปี 55 ฟื้น “น้ำมัน-ค่าจ้าง” กระทบน้อย “แรงงาน” ทวง 300 ลดภาระ-เพิ่มกำลังซื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิชาการ ชี้ ศก.ประเทศใหญ่ “สหรัฐฯ-ญี่ปุ่น-จีน” เริ่มฟื้น คาดเป็นปัจจัยหนุน ศก.ไทยปี 55 โตไม่น้อยกว่า 5% ห่วงปัญหา “น้ำท่วม-ก่อการร้าย” เป็นปัจจัยเสี่ยง “สหพัฒน์” ยอมรับ “น้ำมันแพง-ค่าแรงขึ้น” กระทบต้นทุนสินค้าไม่มากนัก “แรงงาน” ทวงสัญญา “รบ.ปู2” กระทุ้งขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 ทันที เพื่อลดภาระค่าครองชีพ และเพิ่มกำลังซื้อ หลังพบค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน พุ่งกระฉูดวันละ 561 บาท หากเลื่อนอีกเจอชุมนุมแน่

นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวในงานสัมมนาของสถาบันให้คำปรึกษาด้านการพัฒนาบุคลากรและฝึกอบรมเกี่ยวกับการสร้างกลยุทธ์ทางธุรกิจในปี 2012 โดยมองว่า เศรษฐกิจโลกปี 2555 จะมีผลกระทบจากกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) ถึงขั้นทำให้กลุ่มอียูกว่า 10 ประเทศ เศรษฐกิจโดยรวมติดลบและหดตัวค่อนข้างรุนแรง ทำให้สภาพคล่องในตลาดโลกลดลงถึงกว่าร้อยละ 30 รวมทั้งหลายประเทศหันมาใช้ค่าเงินสกุลเดิม ขณะเดียวกัน หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ก็จะสูงขึ้น

“แม้เศรษฐกิจอียูจะหดตัวจากปัญหาหนี้สาธารณะ แต่แนวโน้มการฟื้นตัวของกลุ่มประเทศใหญ่ เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และ จีน ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปจะเป็นแรงขับเคลื่อนและช่วยให้เศรษฐกิจโลกไม่ได้รับผลกระทบมาก และจากการฟื้นตัวของกลุ่มประเทศเหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจโลกยังมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2 รวมถึงทำให้เศรษฐกิจอาเซียนเติบโตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 7 แน่นอน”

ขณะนี้ พบว่า มีสัญญาณชัดเจนหุ้นทั่วโลกมีการปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าภาคการเกษตร เช่น ยางพารา ส่งผลให้ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าของไทยปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน ทำให้คาดว่าจากปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปีนี้มีอัตราการเติบโตไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 การส่งออกขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 12-15 ส่วนปัจจัยเสี่ยงปีนี้ที่ต้องจับตา คือ ปัญหาภัยธรรมชาติ ภัยก่อการร้าย ที่รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญ และจัดทำแผนป้องกันภัยธรรมชาติหรือภัยก่อการร้ายให้เป็นรูปแบบและชัดเจนมากขึ้นต่อไป

นายบุญเกียรติ โชควัฒนา ผู้บริหารเครือสหพัฒน์กรุ๊ป มองแนวโน้มธุรกิจค้าปลีกปีนี้ ว่า ยังขยายตัวได้ดี เนื่องจากประเทศไทยเกิดปัญหาภัยธรรมชาติ ทำให้มีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคสูง แม้หลายคนยังวิตกกังวล และกลัวว่า จากปัจจัยด้านพลังงานและอีกหลายปัจจัยปรับตัวสูงขึ้นจะกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า รวมถึงการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันที่ 1 เมษายน 2555 นี้ จะทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้นนั้น

“ยอมรับว่า โดยรวมกระทบต้นทุนการผลิตสินค้าบ้าง สินค้าบางรายการอาจจำเป็นต้องปรับขึ้น แต่คงไม่มาก เนื่องจากภาคธุรกิจค้าปลีกมีการแข่งขันสูง จึงทำให้การปรับราคาสินค้าอาจจะไม่ใช่เป็นตัวจักรสำคัญ”

แต่สิ่งที่ท้าทายภาคธุรกิจค้าปลีก ทั้งในปีนี้ และในอนาคต คือ การแข่งขันของกลุ่มธุรกิจในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 ซึ่งจะมีการเปิดเสรีทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคเข้ามาในประเทศและไปต่างประเทศมากขึ้น จึงเชื่อว่าการแข่งขันทางธุรกิจจะมีมากขึ้นในอนาคต

ด้าน นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) พร้อมภาคีเครือข่ายผู้ใช้แรงงาน ร่วมแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน ให้เท่ากันทั่วประเทศทันที โดยระบุว่า การเลื่อนปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจากกำหนดเดิมในวันที่ 1 มกราคม เป็นวันที่ 1 เมษายน 2555 และนำร่องแค่ 7 จังหวัดนั้น เป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนช่วงหาเสียงเลือกตั้ง

นอกจากนี้ ยังคัดค้านแผนการไม่ปรับขึ้นค่าจ้างใน 2-3 ปี รวมถึงต้องเร่งควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคด้วย ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของแรงงานในปัจจุบันสูงถึง 561 บาทต่อวัน ทั้งนี้ หากรัฐบาลไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอจะรณรงค์กับผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น