“พาณิชย์” เร่งโรงสีเปิดรับจำนำข้าวหลังน้ำลด เล็งเปิดให้โรงสีภาคอื่นเข้ารับจำนำข้าวข้ามเขตในภาคอีสานได้ หลังพบโรงสีในพื้นที่เข้าร่วมโครงการน้อย แฉแผนดัดหลังกดราคาซื้อข้าวจากชาวนา “ภูมิ” เตรียมลงพื้นที่ตรวจทุกสัปดาห์
นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังจากสถานการณ์น้ำท่วมลดลง จะมีผลผลิตข้าวเปลือกนาปี ฤดูการผลิต ปี 2554/2555 ออกสู่ตลาดร้อยละ 60-70 ในช่วงเดือน พฤศจิกายน-ธันวาคม ฉะนั้น โรงสีที่จะเข้าร่วมโครงการต้องเปิดจุดรับจำนำให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะโรงสีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีอยู่กว่า 440 แห่ง แต่ขณะนี้เปิดจุดรับจำนำเพียง 123 แห่ง จึงเกรงว่าจะไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร
โดยคณะอนุกรรมการรับจำนำข้าว ในระดับจังหวัด จะต้องรับผิดชอบ หากไม่สามารถดำเนินการที่มีโรงสีเพียงพอได้ และทางกระทรวงพาณิชย์ จะพิจารณาให้โรงสีในภาคอื่นๆ ที่มีความพร้อมเป็นผู้ดำเนินการในการรับจำนำข้าวแทน ซึ่งหลังจากนี้ นายภูมิ สาระผล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะลงพื้นที่ตรวจสอบการรับจำนำข้าวในทุกสัปดาห์เพื่อป้องกันการกระทำทุจริตด้วย
“ตอนนี้ โรงสีในภาคอีสานพร้อมเปิดจุดรับจำนำแล้ว 123 จุด เป็นโรงสีในภาคอีสานเอง 113 จุด และจากภาคอื่น 10 จุด จากจำนวนโรงสีในภาคนี้ทั้งหมด 441 แห่ง คาดว่า จะไม่เพียงพอที่จะรับจำนำข้าวจากเกษตรกร จึงจะพิจารณาอนุมัติให้โรงสีจากภาคกลาง ที่ยังมีข้าวมาจำนำน้อย เพราะพื้นที่เพาะปลูกถูกน้ำท่วมและข้าวเสียหาย ให้ขึ้นมารับจำนำข้าวภาคอีสานได้ ไม่เช่นนั้น จะทำให้เกษตรกรไม่มีที่จำนำข้าว และอาจถูกโรงสีในพื้นที่กดราคารับซื้อได้”
กระทรวงพาณิชย์ต้องการให้เกษตรกรในพื้นที่ ที่ยังมีโรงสีเข้าร่วมโครงการไม่เพียงพอ ชะลอการจำนำข้าวออกไประยะหนึ่ง จนกว่ารัฐบาลจะจัดหาโรงสีได้ เพราะต้องการให้เกษตรกรนำข้าวเข้าสู่โครงการจำนำของรัฐบาล เพื่อให้ได้รับผลประโยชน์สูงสุด อีกทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ของรัฐดูแลในเรื่องการหักความชื้น และน้ำหนักข้าวให้ด้วย ส่วนผลการรับจำนำข้าวล่าสุดได้แล้วประมาณ 676,000 ตัน เป็นข้าวภาคเหนือ 440,000 ตัน ภาคอีสาน 43,000 ตัน และภาคกลาง 193,000 ตัน
สำหรับแนวโน้มราคาข้าวไทยนั้น คาดว่า จะสูงขึ้นตามราคารับจำนำ ประกอบกับ น้ำท่วมใหญ่ในไทยทำให้พื้นที่เพาะปลูกข้าวเสียหายเกือบ 10 ล้านไร่ คิดเป็นผลผลิตประมาณ 7-8 ล้านตันข้าวเปลือก ขณะที่ความต้องการข้าวในโลกยังมีมาก โดยล่าสุด ราคาส่งออก (เอฟโอบี) ข้าวหอมมะลิ ตันละ 1,182 ดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากสัปดาห์ก่อนซึ่งยู่ที่ตันละ 1,206 ดอลลาร์สหรัฐ แต่เมื่อคิดเป็นราคาข้าวเปลือกจะเท่ากับราคารับจำนำข้าวเปลือกหอมมะลิที่ตันละ 20,000 บาท ส่วนข้าวขาว ตันละ 649 ดอลลาร์สหรัฐ หากจะให้เท่ากับราคารับจำนำข้าวเปลือก ต้องดันให้ขึ้นมาที่ตันละ 800 ดอลลาร์สหรัฐฯ
สำหรับการส่งออกข้าวไทยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-10 พ.ย.54 อยู่ที่ 9.823 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 34% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่า 5,769 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คาดว่า ปริมาณส่งออกจนถึงสิ้นเดือนพ.ย.น่าจะได้ 10 ล้านตัน และจนถึงสิ้นเดือนธ.ค.น่าจะได้ไม่ต่ำกว่า 10.5 ล้านตัน จากเป้าหมายปีนี้ที่ 10 ล้านตัน
รายงานข่าวเพิ่มเติม ระบุว่า สาเหตุที่โรงสีเข้าร่วมโครงการรับจำนำกับภาครัฐน้อย เป็นเพราะต้องการซื้อข้าวราคาถูกจากเกษตรกรเก็บไว้เอง เพราะเมื่อโรงสีมีไม่เพียงพอที่จะรับจำนำ ทำให้เกษตรกรต้องจำใจขายข้าวให้กับโรงสีตามราคาที่โรงสีกำหนด เพื่อให้เกิดราคาข้าว 2 ตลาดที่แตกต่างกัน และเกิดภาพว่ารัฐไม่สามารถคุมตลาดข้าวไว้ได้ โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียวในภาคอีสาน ที่มีราคารับจำนำสูงมาก