ศรีสะเกษ - “รมช.พาณิชย์” ตรวจติดตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/2555 เผยเดินหน้าให้สิทธิเกษตรกรจำนำข้าวเต็มอัตราทุกเมล็ดและตรวจสอบการทุจริตอย่างเต็มที่ ล่าสุดชาวนาศรีสะเกษ นำข้าวเปลือกมาจำนำ 731 ราย รวม 2,695 ตัน
วันนี้ (14 พ.ย.) เมื่อเวลา 13.30 น.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่จุดรับจำนำข้าว บริษัท บางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง จำกัด ต.โพนข่า อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นายภูมิ สาระผล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และคณะ ได้เดินทางมาตรวจติดตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 โดยมี นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ นำหัวหน้าส่วนราชการ และเกษตรกรชาวศรีสะเกษ มาให้การต้อนรับ พร้อมทั้งบรรยายสรุปโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/2555
นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า จ.ศรีสะเกษ มีพื้นที่ปลูกข้าวรวมประมาณ 3.2 ล้านไร่ มีผลผลิตรวม 1.43 ล้านตัน ทั้งนี้ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติกรอบหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 นั้น คณะอนุกรรมการระดับจังหวัดได้ติดตามกำกับดูแล และดำเนินการเร่งรัดโรงสีที่เข้าร่วมโครงการ เปิดจุดรับจำนำข้าวเปลือกจากเกษตรกรให้ทันต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิตของเกษตรกร ซึ่งมีโรงสีที่เปิดจุดรับจำนำข้าวเปลือกจากเกษตรกรไปแล้ว จำนวน 14 จุด และมี เกษตรกรนำข้าวเปลือกมาจำนำ รวม 731 ราย ปริมาณการรับจำนำ รวม 2,695.0169 ตัน
นายภูมิ สาระผล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การรักษาคุณภาพข้าว และรักษาประโยชน์ที่ประเทศจะไม่ได้รับความเสียหาย เช่น ไม่ได้ข้าวคุณภาพดี และข้อที่สำคัญ ก็คือ ข้าวหอมมะลิในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ นั้น เป็นข้าวพันธุ์ที่ดี ซึ่งตนอยากให้เกษตรกรรักษาคุณภาพนี้ไว้ สำหรับเรื่องการจำนำข้าวที่ยุ้งฉางจะเกิดขึ้นได้หรือไม่นั้น คณะกรรมการกำกับ ดูแลในส่วนกลางจะพิจารณาต่อไป โดยจะนำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมานำเสนอความเห็นร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดการเสียหายและการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นได้
หลักการของการรับจำนำข้าวนั้น จะถือผลผลิตสูงสุดของจังหวัดนั้นๆ โดยสามารถรับจำนำข้าวได้เต็มอัตราข้าว โดยไม่ได้ถือเอาค่าเฉลี่ยในเอกสาร เพราะนั้นเป็นข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่จะนำข้อมูลที่เท็จจริงที่เป็นข้าวของเกษตรปลูกจริงๆ ในปีนี้ แต่ถ้าข้าวของเกษตรกรนั้น มีผลผลิตมากกว่าที่กำหนดตนก็จะรับทุกเมล็ด แต่ทางเกษตรกรต้องลงนามรับรองว่า เป็นข้าวของตัวเองจริง ซึ่งหากตรวจสอบแล้วพบว่าข้าวที่ได้มานั้นมีการทุจริต โดยมีการร่วมมือกันจากหลายๆ ฝ่าย เกษตรกรก็จะถูกดำเนินคดีในความผิดเหมือนกัน ซึ่งตนจะให้สิทธิ์เกษตรกรเต็มที่ และมีการตรวจสอบการทุจริตแบบเต็มที่เหมือนกัน