xs
xsm
sm
md
lg

สกัดข้าว “เขมร-พม่า” หวั่นทะลักสวมสิทธิ์จำนำ ตร.-กองทัพ คุมเข้มชายแดน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมศุลกากร สั่งคุมเข้มแนวชายแดนเขมร-พม่า หวั่นเกษตรกรลักลอบขนข้าวสารสวมสิทธิ์เข้าโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ขอความร่วมมือตำรวจและกองทัพเฝ้าระวังตลอดแนวชายแดน

นายสมชาย พูนสวัสดิ์ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า กรมศุลกากรได้สั่งการไปยังเจ้าหน้าทุกด่านศุลกากรที่เชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งกัมพูชา ลาว และ พม่า ให้ตรวจเข้มการนำเข้าสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรไทย โดยเฉพาะข้าวเปลือก เพื่อป้องกันการนำข้าวมาสวมสิทธิ์เกษตรกรที่จะเข้าโครงการรับจำนำข้าวในวันที่ 7 ตุลาคม 2554 หลังจากที่พื้นที่เพาะปลูกของไทยได้รับความเสียหายอย่างหนัก จากเหตุการณ์อุทกภัยที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ และยังมีแนวโน้มที่จะได้รับความเสียหายต่อเนื่องจากพายุใต้ฝุ่นที่กำลังจะเข้ามาอีกหลายลูก

ทั้งนี้ กรมศุลกากรจะต้องประสานงานกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่นที่รับผิดชอบตามแนวชายแดนที่ติดกับเขตประเทศเพื่อนบ้าน โดยในส่วนของกัมพูชา โดยเฉพาะบริเวณภาคตะวันออกในพื้นที่ของจังหวัดสระแก้ว จันทบุรี และ ตราด ซึ่งพื้นที่แนวชายแดนบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ราบเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งเป็นอาณาเขตทางทะเลกำลังของเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึงจะต้องขอความร่วมมือกับตำรวจตระเวนชายแดน กองทัพบก และกองทัพเรือเพื่อคุมเข้มตลอดแนวชายแดน

“บริเวณสระแก้ว จันทบุรี และ ตราด ตลอดแนวน่ากังวลว่าอาจมีการขนข้าวเปลือกเข้ามาสวมสิทธิ์ตามโครงการรับจำนำของรัฐบาล เพราะพื้นที่ต่อเนื่องฝั่งกัมพูชาเป็นพื้นที่ราบ และเป็นแหล่งปลูกข้าวหลักของกัมพูชา จึงห่วงว่า จะมีการลักลอบนำเข้าข้าวสารเข้ามาในบริเวณดังกล่าว รวมไปถึงตามน่านน้ำที่ค่อนข้างจะควบคุมได้ยากต้องขอความร่วมมือจากฝ่ายความมั่นคงดูแลพื้นที่ส่วนนี้เป็นพิเศษ” นายสมชาย กล่าว

ส่วนตามแนวชายแดนด่านศุลกากรที่เหนือขึ้นไปจนถึงบริเวณภาคอีสานจะประสานงานกับตำรวจตระเวนชายแดน ขณะที่ด่านชายแดนที่ติดกับพม่าก็เช่นเดียวกันจะประสานความร่วมมือกับทั้ง 3 หน่วย เพื่อทำงานร่วมกัน โดยจุดที่น่ากังวลมากที่สุด คือ ด่านแม่สอด จังหวัดตาก เพราะมีเพียงแม่น้ำเมยเป็นชายแดนกั้นเท่านั้น รวมถึงตามแนวชายแดนจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่อาจจะมีการลักลอบได้ขนย้ายข้าวได้สะดวกขึ้น

ทั้งนี้ รัฐบาลจะเปิดโครงการรับจำนำข้าวนาปี ฤดูการผลิต 2554/2555 ในวันที่ 7 ตุลาคมนี้ โดยจะรับจำนำข้าวทั้งหมด 25 ล้านตัน จากพื้นที่เพาะปลูกทั่วประเทศ 60 ล้านไร่ แต่ปรากฏว่า ขณะนี้มีพื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัยไปแล้วเบื้องต้น 4 ล้านไร่ ทำให้เกิดความกังวลที่จะมีการลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์เกษตรกรจากพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายดังกล่าวแทน
กำลังโหลดความคิดเห็น