“ณรงค์ชัย” ชี้ โครงการจำนำข้าว “รบ.ปู” น่าเป็นห่วง การป้องกันทุจริตทำได้ยาก หวั่นงบบาน เพราะจะหาเงินจากที่ไหนมารองรับถึง 4.3 แสนล้าน แนะสังคมช่วยสอดส่อง แฉข้อมูลทุจริตผ่านสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์ก เชื่อคนโกงกลัว เฟซบุ๊คมากกว่าดีเอสไอ ด้านพาณิชย์เตรียมซักซ้อมแผนสกัดการทุจริตทุกขั้นตอน
นายณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตนเองในฐานะที่เคยทำงานอยู่กระทรวงพาณิชย์มาก่อน รู้สึกเป็นห่วงโครงการรับจำนำข้าวที่รัฐบาลชุดนี้ประกาศรับจำนำทุกเม็ด ซึ่งก็ไม่รู้ว่าภาระจากการรับจำนำครั้งนี้จะไปสิ้นสุดที่เท่าไหร่ และเงินที่รัฐบาลประกาศไว้ว่าจะใช้ถึง 4.3 แสนล้านบาทนั้น จะเพียงพอหรือไม่ และนำเงินตรงนี้มาจากไหน นอกจากนี้ยังเป็นห่วงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากโครงการครั้งนี้ว่าจะมีมากแค่ไหน
ทั้งนี้ สิ่งที่เป็นห่วงมากที่สุด คือ การควบคุมเรื่องทุจริตในการรับจำนำนั้น จะทำได้มากน้อยแค่ไหน แม้ว่ารัฐบาลชุดนี้จะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อดูแลการรับจำนำ และตั้งคณะกรรมการเพื่อมาดูแลการทุจริตในโครงการ พร้อมทั้งได้ดึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มาช่วยดูแลการทุจริต ซึ่งเชื่อว่าการควบคุมไม่ให้เกิดทุจริตขึ้นมาในโครงการเป็นการยาก สิ่งที่จะควบคุมได้คือคนในสังคมต้องช่วยกันสอดส่องดูแลและใช้สื่อโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างเฟสบุ๊ก ทวิตเตอร์ในการช่วยตรวจสอบโครงการนี้
“เชื่อว่า ผู้จะทุจริตในโครงการนี้จะต้องกลัวเฟสบุ๊กมากกว่าดีเอสไอ เพราะถ้าเจอข้อมูลทุจริต ผู้ที่เจอโพสต์ข้อมูลแฉได้ทันที ยอมรับว่าโครงการนี้สามารถโกงง่าย แต่การควบคุมทำได้ยาก”
นายภูมิ สาระผล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงผลการประชุมคณะอนุกรรมการกำกับดูแลการรับจำนำข้าว วานนี้ โดยระบุว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมความพร้อมโครงการรับจำนำข้าว ว่าขณะนี้มีโรงสีข้าวที่เข้าร่วม 630 แห่ง ใน 31 จังหวัดที่มีความพร้อม รวมทั้งเรื่องการออกหนังสือรับรองเกษตรกร และการออกใบประทวน ปัจจุบันมีเกษตรรกรมาลงทะเบียนแล้ว 60% จำนวนเกือบ 3 ล้านไร่ คิดเป็นพื้นที่เพาะปลูก 60-70 ล้านไร่
นอกจากนี้ การป้องกันการสวมสิทธิ์จะมีความเข้มงวด โดยเกษตรกรต้องนำข้าวมาจำนำด้วยตนเอง พร้อมด้วยหนังสือรับรอง และทางราชการจะออกใบประทวนให้แล้วเสร็จภายในวันที่เดียวกับที่เกษตรกร นำข้าวมาจำนำ เพื่อป้องกันปัญหา แตกต่างจากที่ผ่านมา อีกทั้งจะให้เจ้าหน้าดูแลโรงสี 4 แห่งต่อคน เพื่อจะได้ดูแลอย่างทั่วถึง จากเดิมที่ดูแล 7-8 แห่งต่อคน ซึ่งดูแลไม่ทั่วถึง
สำหรับการตรวจสอบสต๊อกข้าวของรัฐบาลที่โรงสีข้าวเก็บไว้จะให้คณะอนุกรรมการระดับจังหวัดเริ่มออกตรวจสอบ ก่อนที่โครงการจะเริ่มขึ้นในวันที่ 7 ตุลาคม 2554 พร้อมกันนี้ในวันที่ 28 กันยายน 2554 จะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างโรงสีกับเกษตรกร