xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ดแร่ประเดิมกฎหมายใหม่ อนุมัติ 3 รายแรกลุยสำรวจแหล่งทองคำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณะกรรมการภายใต้ พ.ร.บ.แร่ พิจารณาคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำของเอกชน 3 ราย ประเดิมรับกฏหมายใหม่ นำร่องแล้วรวม 50 แปลง ครอบคลุมพื้นที่บริเวณจังหวัดเพชรบูรณ์ ระยอง และ จันทบุรี

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า หลังจากที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกประกาศนโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำมีผลเมื่อวันที่ 6 พ.ค.2554 ส่งผลให้ล่าสุดคำขออาชญาบัตรพิเศษในการสำรวจแร่ทองคำจากเอกชน 3 รายได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการภายใต้พระราชบัญญัติแร่แล้ว ซึ่งถือเป็นการพิจารณาคำขอเกี่ยวกับการสำรวจแร่ทองคำเป็นครั้งแรกหลังจากที่มีการค้างพิจารณามานานกว่า 4 ปี เพื่อรอกฎหมายที่ชัดเจน ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้จะได้มีการนำเสนอให้ นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.อุตสาหกรรมได้ลงนามเห็นชอบตามกฏหมายภายในเดือนก.ย.2554

สำหรับคำขออาชญาบัตรพิเศษดังกล่าว ประกอบด้วย 1.บริษัท เอราวัณ ไมนิ่ง จำกัด จำนวน 4 แปลง ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีและระยอง 2.บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด จำนวน 44 แปลงบริเวณพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ และ 3.บริษัท ริชภูมิไมนิ่ง จำกัด จำนวน 2 แปลงบริเวณพื้นที่จังหวัดจันทบุรี

โดยขั้นตอนการดำเนินงานหลังจากผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการแร่ ทางบริษัทจะต้องดำเนินการวางเงินค้ำประกันรายละ 500,000 บาท เพื่อเป็นหลักประกันการดำเนินงานให้มีความปลอดภัยและไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อพื้นที่ พร้อมกับจะต้องเสนอแนวทางการฟื้นฟูเหมืองหลังการสำรวจควบคู่ให้กับท้องถิ่นที่จะสำรวจ

“คาดว่า ทั้ง 3 รายจะเริ่มขั้นตอนการสำรวจภายในปีนี้ ซึ่งตามกฎหมายกำหนดระยะเวลาสำรวจไม่เกิน 5 ปี หากเห็นว่ามีศักยภาพที่จะทำเหมืองก็จะต้องยื่นคำขอประทานบัตรต่อไป ซึ่งผู้ขอที่เป็นชาวต่างชาติหรือมิใช่นิติบุคคลไทยจะไม่มีการพิจารณารับคำขอ เว้นแต่ไทยจะมีพันธะสัญญากับต่างประเทศเป็นกรณีพิเศษ และจะต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับคนไทยภายใน 5 ปี เป็นต้น” แหล่งข่าวกล่าว

นอกจากนี้ ขั้นตอนการขอประทานบัตรหรือการลงทุนทำเหมืองแร่ทองคำ ผู้ลงทุนจะต้องมีการตั้งกองทุนรักษาสิ่งแวดล้อมและกองทุนฟื้นฟูคุณภาพชีวิตชุมชน รวมถึงต้องมีการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (E-HIA) ตามที่กฎหมายกำหนด เป็นต้น อย่างไรก็ตาม คำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจทองคำ 3 รายดังกล่าว เป็น 3 รายใน 6 ราย ที่ค้างการพิจารณาเพื่อรอกฎหมายที่ชัดเจนโดยอีก 3 รายที่เหลือคาดว่าจะมีการพิจารณาอนุมัติหลังจากนี้ ได้แก่ 1.บริษัท อารอน ไมนิ่ง จำกัด ขอสำรวจ 4 แปลง ในจังหวัดจันทบุรี 2.บริษัท อมันตา มิเนอรัลส์ จำกัด ขอสำรวจ 3 แปลง ในจังหวัดเชียงราย และสุราษฎร์ธานี และ 3.บริษัท อมันตา จำกัด ขอสำรวจ 1 แปลง ที่จังหวัดสตูล ซึ่งหากมีการพิจารณาให้ทั้งหมด 6 บริษัทตามที่ยื่นคำขอสำรวจจะรวมพื้นที่การสำรวจทองคำประมาณกว่า 500,000 ไร่ โดยก่อนหน้านี้ ไทยได้มีการประทานบัตร เหมืองทองคำไปแล้ว 30 แปลง ในพื้นที่ 7,619 ไร่ และให้อาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำไปแล้ว 53 แปลงในพื้นที่ประมาณ 500,000 ไร่

“ศักยภาพเหมืองแร่ทองคำของไทยยังมีอยู่ โดยเฉพาะในส่วนพื้นที่จังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์และพิษณุโลก แต่ผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ยังไม่มียื่นเข้ามาเพิ่มเติมขณะนี้ เพราะเป็นช่วงรอยต่อของนโยบาย แต่เชื่อว่า จะมีการยื่นขอเข้ามาต่อเนื่อง เพราะปัจจุบันราคาทองคำยังจูงใจอยู่ ประกอบกับกฎระเบียบของเหมืองทองก็เปิดกว้างและชัดเจนมากขึ้น” แหล่งข่าวกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น