xs
xsm
sm
md
lg

คืนเงินรถคันแรกส่อวุ่น ไฟแนนซ์หวั่นคนทิ้งรถ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการรายวัน - คืนเงินรถคันแรกป่วน! สมาคมธุรกิจเช่าซื้ออัดรัฐบาลคิดไม่รอบคอบ เปิดช่องให้ผู้ซื้อทิ้งรถทันทีหลังได้รับเงินคืนสูงสุด 1 แสนบาทภายในปีแรก แถมไม่สามารถขายทอดตลาดได้ แนะกรมสรรพสามิตจ่ายผ่านไฟแนนซ์ และนำมาลดเงินค่างวดแทน หากไม่ปรับเงื่อนไขจะต้องเข้มงวดปล่อยเช่าซื้อ และปรับเพิ่มเงินดาวน์อีก 10-15% ขณะที่ค่ายรถ “ทาทา” ชี้กระทบอุตสาหกรรมปิกอัพไทย และยังกีดกันการเปิดเสรีการค้าด้วย

วันที่ 14 ก.ย. กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลังได้เชิญผู้ประกอบการรถยนต์ สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ และบริษัทประกันภัยรถยนต์ มารับฟังการชี้แจงรายละเอียดและแนวทางการปฏิบัติในมาตรการคืนเงินภาษีผู้ซื้อรถยนต์คันแรก ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติหลักการตามที่กระทรวงการคลังเสนอไปเมื่อวันอังคารที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา

รายงานข่าวจากที่ประชุมระบุว่า ในการให้ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการคืนเงินผู้ซื้อรถคันแรก โดยตัวแทนจากสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทยได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับแนวทางการปฏิบัติของรัฐบาลและกรมสรรพสามิต ที่จะคืนเงินให้กับผู้ซื้อรถรถคันแรก หลังจากครบกำหนดภายในปีแรกหมดทันที

“มาตรการดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการไม่ได้ศึกษาอย่างรอบคอบ เพราะจะก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการสวมสิทธิ์ และที่สำคัญอาจทำให้เกิดการทิ้งรถจำนวนมาก ของผู้ซื้อรถเก๋งขนาดไม่เกิน 1500 ซีซี หลังจากได้รับคืนเงินภาษีสูงสุดถึงแสนบาทในปีแรกทันที”

โดยตัวแทนสมาคมธุรกิจเช่าซื้อให้เหตุผลว่า ปัจจุบันการเช่าซื้อรถยนต์มีการวางเงินดาวน์ต่ำมาก 5-10% ซึ่งรถยนต์นั่งขนาดไม่เกิน 1500 ซีซี ราคาอยู่ที่ประมาณ 5-7 แสนบาท ฉะนั้น ผู้ซื้อรถจะวางเงินดาวน์กันอยู่ที่ประมาณ 5-8 หมื่นบาทเท่านั้น แต่มาตรการคืนเงินภาษีให้กับผู้ซื้อรถคันแรก หลังจากซื้อเป็นเวลาครบ 1 ปี จะได้รับเงินภาษีสรรพสามิตคืนสูงสุด 1 แสนบาท ทำให้ผู้ซื้อรถได้รับเงินดาวน์คืนทันทีเพียงแค่ปีแรก และอาจจะมีส่วนต่างเพิ่มด้วย ทำให้บางรายอาจจะตัดสินใจทิ้งรถ ด้วยการปล่อยให้บริษัทเช่าซื้อรถ หรือไฟแนนซ์ยึดไป

ทั้งนี้ยังมีปัญหาอีกว่า เมื่อผู้เช่าซื้อทิ้งรถปล่อยให้ไฟแนนซ์ยึดกลับคืน วิธีผ่อนเบาความเสียหายจำเป็นต้องปล่อยขายทอดตลาด แต่จากเงื่อนไขมาตรการคืนเงินผู้ซื้อรถคันแรก ผู้ซื้อจะต้องครอบครองให้ครบ 5 ปี จึงจะสามารถเปลี่ยนผู้ถือครองได้ ตรงนี้ทำให้ไฟแนนซ์ไม่สามารถขายทอดตลาดได้

“วิธีที่ไฟแนนซ์จะปล่อยรถได้ ต้องนำเงินไปคืนกรมสรรพสามิต ซึ่งทำให้ต้องรับภาระเพิ่ม มาตรการดังกล่าวจึงเป็นความเสี่ยงของผู้ประกอบการธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ วิธีจะลดความเสี่ยงดังกล่าว สรรพสามิตควรนำเงินภาษีที่คืนผ่านททางไฟแนนซ์ แล้วนำมาเป็นส่วนหักลดค่างวดผ่อนรถแทน และน่าจะตรงกับเป้าหมายรัฐบาล ที่ต้องการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายผู้ซื้อรถคันแรกมากกว่า” ตัวแทนสมาคมธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์กล่าว

อย่างไรก็ตาม กรมสรรพสามิตยืนยันไม่สามารถส่งเงินให้กับไฟแนนซ์ได้ จะต้องนำเงินคืนให้กับประชาชนผู้ซื้อรถคันแรกเท่านั้น ทำให้ตัวแทนสมาคมธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ แจ้งให้กับตัวแทนรัฐบาลทราบว่า ไฟแนนซ์คงจะต้องมีการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื้อเช่าซื้อรถตามมาตรการคืนเงินภาษีรถคันแรก และอาจจะต้องเพิ่มเงินดาวน์เช่าซื้ออีก 10-15% จากอัตราปัจจุบัน

ส่วนผู้ประกอบการรถยนต์ ตัวแทนจากบริษัท ทาทา มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เห็นว่าเป็นการผิดวัตถุประสงค์ของมาตรการคืนเงินภาษีผู้ซื้อรถคันแรก เพราะเงื่อนไขกำหนดเฉพาะรถผลิตในประเทศเท่านั้น ถือว่าไม่สอดคล้องกับเป้าหมายรัฐบาลที่ต้องการช่วยลดภาระผู้ซื้อรถคันแรก แต่ดูแล้วเป็นการสนับสนุนธุรกิจประกอบรถยนต์ในประเทศมากกว่า

“ปัจจุบันมาตรการส่งเสริมการประกอบรถในประเทศมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นผ่านทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ หรือการลดอัตราภาษีสรรพสามิตต่างๆ แต่มาตรการคืนเงินรถคันแรก เป้าหมายต้องแบ่งเบาภาระให้กับประชาชน จึงไม่จำเป็นต้องจำกัดเฉพาะรถประกอบในประเทศ ควรจะเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเลือกซื้อรถอะไรก็ได้ที่ต้องการ และที่สำคัญยังจะกระทบอุตสาหกรรมปิกอัพไทย ซึ่งถือเป็นโปรดักซ์แชมเปียนของไทย เพราะได้รับเงินคืนเพียงกว่าหมื่นบาทเท่านั้น ทำให้ประชาชนอาจจะหันไปซื้อรถขนาดไม่เกิน 1,500 ซีซีเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากได้รับเงินคืนสูงสุดถึง 1 แสนบาท”

นอกจากนี้ ตัวแทนจากทาทา มอเตอร์ส ประเทศไทย ยังมองว่ามาตรการคืนเงินรถคันแรก อาจจะเป็นการกีดกันการเปิดเสรีการค้าทางอ้อม เพราะทำให้รถยนต์ขนาดไม่เกิน 1500 ซีซี ที่นำเข้าจากอาเซียนไม่สามารถแข่งขันได้ เพราะมีส่วนต่างของราคาที่รัฐบาลไทยสนับสนุนสูงสุดถึง 1 แสนบาท แน่นอนเรื่องนี้คงไม่เป็นที่พอใจของประเทศต่างๆ ในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย หรือมาเลเซีย
กำลังโหลดความคิดเห็น