xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการเตือนจุดอ่อนโครงการรับจำนำข้าว ห่วงปัญหาขาดดุล-เงินเฟ้อหนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
นักวิชาการ มธ.เตือนโครงการเปิดรับจำนำข้าว ต้องรอบคอบ ทั้งการขึ้นทะเบียนชาวนาตัวจริง และการป้องกันโรงสีทุจริต หวั่นกลไกไม่ดันราคาในตลาดโลกพุ่งตาม เพราะการแทรกแซงตลาดไม่สามารถทำได้แบบถาวร ห่วงปัญหาขาดดุลฯ กู่ไม่กลับ กระทบเงินเฟ้อเรื้อรัง รมว.พาณิชย์ ยันตัวเลขไว้ที่ 4 แสนล้าน เพื่อดันนโยบาย หลังจากนั้น ค่อยมาว่ากันใหม่



นายสกนธ์ วรัญญวัฒนา นักวิชาการคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล ต้องระวังการขึ้นทะเบียนว่าเป็นเกษตรจริงหรือไม่ จะมีการควบคุมดูแลโรงสีอย่างไรไม่ให้ทุจริต การรับจำนำข้าวเปลือกในราคาสูงจะผลักดันให้ราคาข้าวในตลาดโลกปรับสูงขึ้นได้จริงหรือไม่ เพราะไทยยังมีคู่แข่งสำคัญมาตัดราคาได้ เช่น เวียดนาม

“ประโยชน์ของการรับจำนำจะตกอยู่ที่เกษตรกรจริงหรือไม่ ที่สำคัญการดูแลข้าวถุงที่มีราคาสูงไม่ให้ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อน จะดำเนินการอย่างไร เพราะการแทรกแซงราคาข้าว จะทำเป็นการถาวรคงไม่ได้”

นายสกนธ์ กล่าวด้วยว่า หากรัฐบาลกำหนดกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 55 ด้วยการให้มีรายจ่าย 2.35 ล้านล้านบาท เป้าหมายรายได้ 1.96 ล้านล้านบาท ซึ่งจะทำให้ขาดดุลงบประมาณสูงถึง 3.9 แสนล้านบาท อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น

ทั้งนี้ การอัดฉีดเงินออกสู่ระบบส่วนใหญ่เป็นรูปแบบการทำโครงการประชานิยม เช่น การรับจำนำสินค้าเกษตร โครงการบ้านหลังแรก รถยนต์คันแรก การปรับเพิ่มเงินเดือนราชการ ซึ่งทำให้ราคาสินค้า ค่าครองชีพปรับสูงขึ้น จึงต้องดูว่ารัฐบาลจะบริหารจัดการในการหารายได้ของรัฐบาลเข้ามาให้เพียงพอต่อการทำงบรายจ่ายอย่างไร

นอกจากนี้ ยังเป็นห่วงว่า การเติบโตของรายจ่ายมีสูงมากกว่ารายได้ อาจทำให้ต้องผลักดันการหารายได้ไปในอนาคตในรูปแบบภาษีอื่นๆ และรัฐบาลจะดูแลอัตราเงินเฟ้ออย่างไรไม่ให้สูงขึ้นมากนัก ดังนั้นจึงต้องหารายได้จากการขยายฐานภาษี การเดินหน้าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และโครงการอื่นๆ เพื่อหารายได้ให้เพียงพอต่อรายจ่ายของรัฐบาล

ด้าน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การจัดงบประมาณรายจ่ายปี 2555 นายกรัฐมนตรีให้นโยบายว่าจะไม่ให้ขาดดุลเกิน 4 แสนล้านบาท ด้วยการเลือกตัดโครงการที่ไม่ใช่นโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน เพื่อให้ครอบคลุมกรอบการใช้งบฯ ส่วนการจัดทำงบสมดุลจะเกิดขึ้นเมื่อใดนั้น ก็คงจะต้องพิจารณาถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายต่างๆ เสียก่อน โดยหากประชาชนมีรายได้เพิ่มแล้ว ภาษีต่างๆ รวมไปถึงภาษีนิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่มก็จะเพิ่มกลับคืนมา
กำลังโหลดความคิดเห็น