ผอ.ไอทีดี เผยรายงาน "อังค์ถัด" ชี้ ทิศทาง ศก. สหรัฐฯ-ยุโรป หมดทางเยียว มีโอกาสถดถอยยาว 10 ปี เห็นได้จากที่ สหรัฐฯ-ยุโรป หันกลับไปใช้นโยบายการรัดเข็มขัด พร้อมเตือนไทย-ประเทศกำลังพัฒนา ต้องระมัดระวัง เพราะอาจโดนหางเลขได้
นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอยนานกว่า 10 ปี เพราะสหรัฐอเมริกาไม่สามารถหาแนวทางแก้ไขเศรษฐกิจในประเทศได้ ขณะเดียวกัน มาตรการเข้มงวดทางการคลังของกลุ่มยุโรป (EU) ที่มุ่งลดการใช้จ่ายภาคการคลัง และหนี้สาธารณะไม่ได้ผล และยังทำให้เกิดผลกระทบต่อการใช้จ่ายลงทุนภาครัฐ และส่งผลกดดันต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ
ขณะที่ไทยแม้จะมีพื้นฐานเศรษฐกิจแข็งแกร่ง และหันไปส่งออกยังตลาดใหม่ เช่น จีน อินเดีย อินโดนีเซีย และตลาดอาเซียน ทำให้รองรับผลกระทบได้ประมาณ 3 ปี แต่ก็ต้องปรับตัว โดยเน้นการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ เพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และเพิ่มมูลค่าสินค้าส่งออก รวมทั้งต้องเร่งสร้างความร่วมมือระดับอนุภาคีลุ่มแม่น้ำโขง และระดับอาเซียน ที่จะเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ในปี 2558 ซึ่งจะมีการเชื่อมโยงประชากรสูงถึง 970 ล้านคน ถือเป็นโอกาสทางการค้าที่ไทยต้องเร่งปรับตัวรองรับ
ผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา กล่าวว่า หากไทยสามารถพัฒนาการบริโภค การค้าและการลงทุน ได้อย่างมีคุณภาพและตรงเป้าหมาย จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้อัตราการขยายเศรษฐกิจไทย (GDP) ปีหน้า ขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 2.5 จากปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5-4 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประมาณการไว้
ด้านรายงานการค้าและการพัฒนาประจำปี 2554 ของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) ที่เตือนว่า ประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ จี3 จึงเสนอให้ใช้มาตรการลอยตัวค่าเงินบาทแบบมีการจัดการ เพื่อป้องกันการเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนที่ปัจจุบันมีการเก็งกำไรสูงมาก ดูแลตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ที่นอกจากจะเก็งกำไรในตลาดซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์แล้ว ยังมีการเก็งกำไรในตลาดซื้อขายล่วงหน้า
"กรณีดังกล่าว หากเก็งกำไรจนราคาผันผวนมากอาจทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ได้ รวมทั้งต้องปฏิรูประบบสถาบันการเงิน ให้มีความเข้มงวดมากขึ้น เพื่อป้องกันสถาบันการเงินล้มละลายเป็นลูกโซ่ เหมือนวิกฤตการเงินครั้งที่ผ่านมา"
ทั้งนี้ อังค์ถัดได้ออกรายงานเตือนประเทศต่างๆ ให้ระวังมาตรการประหยัดและรัดเข็มขัด เพราะเป็นเพียงการจัดการกับอาการของปัญหา แต่ไม่ได้จัดการกับสาเหตุพื้นฐานของอัตราส่วนหนี้สาธารณะที่สูงและเป็นผลลัพธ์ของวิกฤต โดยนโยบายการคลังที่ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจต่างหากที่จะช่วยลดการขาดดุลการคลังและยับยั้งอัตราส่วนหนี้สาธารณะได้มากกว่านโยบายการคลังที่เข้มงวด ที่จะทำให้การเติบโตของจีดีพีและรายได้ของรัฐบาลประ เทศพัฒนาแล้วลดลง
โดยในส่วนของไทยที่เป็นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และมีการพึ่งพาการส่งออกต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจนั้น แม้จะได้รับผล กระทบจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และแม้จะหันไปส่งออกยังกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันเพิ่ม แต่หลายประเทศก็หันไปแย่งกันส่งออกไปตลาดกลุ่มนั้นเช่นกัน ทำให้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหันมาพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศ หรือการพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศให้มากขึ้น กระตุ้นการใช้จ่าย โดยเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชน เพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกลงมาในช่วงที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างชัดเจน