xs
xsm
sm
md
lg

สทท.ลุยแบ่งสินค้าท่องเที่ยว 8 คลัสเตอร์ ดีไซน์จุดขาย ตอกย้ำผ่านสินค้าที่ระลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สทท. จับมือ สสว. ลุยศึกษาแบ่งสินค้าท่องเที่ยว 8 คลัสเตอร์ ระบุรัฐบาล ได้แต่ทำการศึกษาแบ่งเส้นทาง แต่ยังไม่สร้างจุดเด่นให้ชัดเจน ชี้การศึกษาครั้งนี้ ทำแบบบูรณาการ โดยชุมชน ต้องมีส่วนร่วมแสดงความคิด พร้อมดีไซน์จุดขาย ตอกย้ำผ่านสินค้าของที่ระลึก

นายกงกฤช หิรัญกิจ ประธานฝ่ายนโยบาย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือสทท. เปิดเผยว่า เตรียมจับมือร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. ทำการศึกษาการแบ่งสินค้าท่องเที่ยว โดยแบ่งการศึกษาเป็นกลุ่มจัดหวัดท่องเที่ยว รวม 8 กลุ่ม คลัสเตอร์ ที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้แบ่งไว้แล้ว

เพราะเห็นว่าที่ผ่านมา รัฐบาลดำเนินการแบ่งกลุ่มแหล่งท่องเที่ยว(คลัสเตอร์) ตามลักษณะทางกายภาพเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในเรื่องของการสร้างความแตกต่างอย่างชัดเจนว่า ในแต่ละคลัสเตอร์ จะต้องมีจุดขายอย่างไรบ้าง ให้มีความโดดเด่นแตกต่างกันในแต่ละคลัสเตอร์ เพื่อให้สะดวกแก่การทำการตลาด นำเสนอขายแก่นักท่องเที่ยวเป้าหมาย

“การทำตลาด ให้ได้ผลดี ต้องใส่จุดขายของสินค้าให้ชัดเจน แต่ที่ผ่านมารัฐบาลได้แต่แบ่งพื้นที่ไว้ โดยยังไม่ได้ใส่จุดขายอะไรลงไป หากปล่อยไปเช่นนี้ แล้วนำออกไปทำตลาดโปรโมทแหล่งท่องเที่ยว ก็จะไม่มีจุดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติสนใจ ซึ่งโครงการนี้ สทท. จะใช้งบจาก สสว. ในการดำเนินการ”

รูปแบบการศึกษาในโครงการนี้ จะเน้นหาจุดต่างในแต่ละคลัสเตอร์ รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน ในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว เช่น โรงพยาบาล สถานีตำรวจ จุดบริการนักท่องเที่ยว สถานีรถขนส่ง สนามบิน รวมถึงเส้นทางคมนาคม ร้านขายของที่ระลึก เพื่อให้นักท่องเที่ยวทราบข้อมูลว่า ในแต่ละพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวมีอะไรบ้างที่โดดเด่นที่คลัสเตอร์อื่นๆไม่มี จากนั้นนำมารวบรวม สร้างเป็นจุดเด่น นำเสนอขายแก่นักท่องเที่ยว เพื่อประกอบการตัดสินใจ

อย่างไรก็ตาม ในกรณีศึกษาครั้งนี้ เพื่อให้ชุมชนซึ่งเป็นเจ้าของแหล่งท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วม สทท. จะใช้วิธีประชุมร่วมกับตัวแทนชาวบ้านในแต่ละคลัสเตอร์ เพราะถือเป็นผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ ย่อมรู้ดีว่า ในพื้นที่ของตัวเอง มีสิ่งใดน่าสนใจ ที่พร้อมนำเสนอต่อนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะในเรื่องของวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยจะนำแนวคิดที่ระดมสมองมาร่วมกันมาดำเนินการแบบบูรณาการ สร้างให้เกิดความแตกต่าง เช่น ป้ายบอกทางที่จะออกแบบให้มีเอกลักษณ์ชัดเจน รวมถึงการออกแบบของที่ระลึก จะต้องนำสินค้าเด่นๆ ที่มีวัตถุดิบในคลัสเตอร์ มาทำเป็นของที่ระลึก การนำภาพวัฒนธรรมเด่นๆ ในคลัสเตอร์มาใช้สร้างสินค้าท่องเที่ยว เช่น ช้อน แก้วกาแฟ พวงกุญแจ ด้วยลวดลายเฉพาะ แตกต่างกันไปในแต่ละคลัสเตอร์

“ปัจจุบัน สินค้า และของที่ระลึก ในแต่ละแหล่งท่องเที่ยว ไม่มีความแตกต่างกัน เป็นของที่หาซื้อได้ทั่วไป เกือบทุกพื้นที่ ไม่เหมือนในหลายๆประเทศ ที่จะเน้นออกแบบสินค้าของที่ระลึกที่มีเอกลักษณ์น่าสนใจของคลัสเตอร์มานำเสนอ ดังนั้นเมื่อรัฐแบ่งคลัสเตอร์ท่องเที่ยว เพื่อสร้างเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ๆให้เกิดขึ้น ก็ควรสร้างความแตกต่างเรื่องสินค้าที่ระลึกแต่ละพื้นที่ให้เป็นรูปธรรมด้วย เพื่อให้แต่ละคลัสเตอร์ดูโดดเด่น สร้างความน่าสนใจได้เพิ่มขึ้น” นายกงกฤช กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น