xs
xsm
sm
md
lg

“ศุภวุฒิ” ปัด พท.ทาบนั่งเก้าอี้ “รมว.คลัง” ยันไม่สนใจทำงานการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศุภวุฒิ สายเชื้อ
“ศุภวุฒิ” ยันไม่เคยได้รับการทาบทามจาก พท.นั่งเก้าอี้ รมว.คลัง-ที่ปรึกษา ศก.ย้ำไม่สนใจที่จะทำงานทางการเมือง ด้าน ปธ.สภาตลาดทุน คาด ครึ่งปีหลัง เม็ดเงินไหลเข้าตลาดหุ้นไทนน้อย เนื่องจาก พี/อี ตลาดหุ้นไทยสูงกว่าภูมิภาค แนะลดภาษีนิติบุคคล ตกแต่งกำไร

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร กล่าวยืนยันว่า ตนเองไม่เคยได้รับการทาบทามจากทางพรรคเพื่อไทย ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ และไม่สนใจที่จะทำงานทางการเมือง

ส่วนมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยนั้น นายศุภวุฒิ กล่าวว่า แม้นักลงทุนต่างชาติจะมีมุมมองเชิงบวกต่อประเทศไทย หลังผลการเลือกตั้งเรียบร้อย แต่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือยังไม่มีการปรับเรตติ้งประเทศไทยเพิ่ม เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เช่น อัตราการว่างงานยังอยู่ที่ร้อยละ 1 สะท้อนว่าเต็มกำลังการผลิต การลงทุนยังต่ำ

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นจนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง เป็นตัวกดดันการเติบโตของอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ยังอยู่ที่ร้อยละ 4 ในปีนี้ ขณะที่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่น่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยในปีหน้า

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย และนายกสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กล่าวว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 1,180 จุด ซึ่งเป็นเป้าหมายที่เคยคาดการณ์ไว้ หากรัฐบาลชุดใหม่มีการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 23 ในปี 2555 และเหลือร้อยละ 20 ในปี 2556 ซึ่งจะช่วยให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 10

ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังมีปัญหาทั้งสหรัฐและยุโรป ทำให้เม็ดเงินต่างชาติไหลออก-เข้าสู่ตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะเอเชีย แต่ต้องยอมรับว่า ขณะนี้ราคาหุ้นไทยแพงกว่าหุ้นในภูมิภาคที่มีอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ หรือพีอี เรโช อยู่ที่ 11 เท่า ขณะที่ พี/อี เรโช หุ้นไทย อยู่ 13 เท่า ดังนั้น เม็ดเงินลงทุนที่จะไหลเข้าหุ้นไทยในระยะต่อไป ต้องมาจากนโยบายลดภาษีนิติบุคคลของรัฐบาลที่จะช่วยเพิ่มกำไรให้บริษัทจดทะเบียน

ส่วนข้อกังวลเกี่ยวกับการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลใหม่ที่คาดจะเกินกว่า 350,000 ล้านบาทนั้น สามารถทำได้หากการขาดดุลช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจให้มากขึ้น และทำให้กรอบการขาดดุลยังอยู่ในระดับร้อยละ 3-4 ของจีดีพี
กำลังโหลดความคิดเห็น