xs
xsm
sm
md
lg

สสว.เสนอ “ยิ่งลักษณ์ ” ตั้งกองทุน SMEs - เร่งเวนเจอร์แคป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แผนตั้ง “SME Regional Development Fund” อาเซียนท่าจะเกิดยาก เหตุ บางประเทศไม่เต็มใจ บางรายฐานการเงินก็ไม่พร้อม ส่วนที่เมืองไทย “ผอ.สสว.” ตัดสินใจเสนอรัฐบาลใหม่จัดงบปี 55 ตั้งกองทุน SMEs ในประเทศขึ้นเอง ทั้งขอให้เร่งทำมาตรการกระตุ้นการร่วมลงทุน SME ทั้งในรูป VC และ CV

กองทุนพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมระดับภูมิภาค (SMEs Regional Development Fund) หนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานใหม่เพื่อใช้พัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในกลุ่มอาเซียนนี้ เป็นผลมาแนวคิดที่ผลักดันโดย SME Advisory Board จากฝ่ายไทยต่อที่ประชุม ASEAN SME Agencies Working Group ณ ประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 13-17 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่มาแนวคิดเรื่องการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวมาจากข้อเท็จจริงที่ว่าทุกวันนี้ SME ทั่วโลกล้วนต้องเผชิญกับความยากลำบากในการพัฒนาธุรกิจของตนให้เติบโตอย่างมั่นคง

เหตุจากข้อจำกัดมากมายในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทั้งที่เป็นธุรกิจรากฐานทางเศรษฐกิจ เป็นแหล่งรวมการจ้างงานขนาดใหญ่สำหรับผู้หญิงและพวกเด็กๆ รวมถึง ยังเป็นต้นกำเนิดธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศ และยังเป็นเสาหลักเรื่องการพัฒนาแบบเท่าเทียมตามกรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เนื่องจากการพัฒนาและการดำรงอยู่ของ SME นั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจแค่อย่างเดียว แต่ยังมีผลกระทบในเชิงสังคมด้วย

ดร.วิมลกานต์ โกสุมาส รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เท้าความว่าอันที่จริงแล้วไทยเป็นตัวตั้งตัวตีในการผุดแนวคิดที่ว่าอาเซียนอาจต้องมีกองทุนอะไรบางอย่างเพื่อสนับสนุนให้ SMEs ในภูมิภาคที่ต้องการจะทำธุรกิจซึ่งมีฐานกว้างขวางระดับภูมิภาคสามารถหาเงินทุนเพื่อดำเนินการในเรื่องดังกล่าวนี้ได้

อย่างไรก็ตาม จน ณ วันนี้อาเซียนก็ยังคงมีความเห็นไม่ลงรอยกันและอยู่ระหว่างถกเถียงกันอยู่ แต่สิ่งที่ลงรอยกันนั่นคือ SME ในวันนี้ขาดแคลนเงินทุนทำธุรกิจ โดยเฉพาะเงินทุนเพื่อการข้ามย้ายกิจการออกไปยังประเทศอื่นๆ

“การทำกองทุนใหญ่กองเดียวใช้ร่วมกันทั้งอาเซียนเลยมันจะช้า เพราะบางประเทศก็ไม่เต็มใจ บางประเทศก็ไม่พร้อม แต่เราต้องสร้างกระแสนี้เอาไว้ก่อน” ดร.วิมลกานต์ กล่าว

ด้าน ยุทธศักดิ์ ศุภกร ผอ.สสว.ให้ความเห็นเพิ่มเติมถึงประเด็นแผนพัฒนากองทุนภูมิภาคแบบนี้ว่าเป็นเรื่องยาก เพราะในทางปฎิบัติถ้าให้ทุกประเทศใส่งบลงกองทุนรายละ 1 ล้านเหรียญฯ สำหรับไทยแล้วอาจดูไม่มาก แต่หากเป็นประเทศประเทศในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) ก็อาจเกิดปัญหาว่าจะยอมกันหรือเปล่า

แต่กระนั้นเขาก็ยังมองในแง่ดีที่ว่าการจัดตั้งกองทุน SME ระดับภูมิภาค ก็อาจะมีความเป็นไปได้ในอนาคต หากพิจารณาโครงสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจที่ ASEAN ได้ผูกพันตัวเองไว้กับหลายๆ ประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น ที่วันข้างหน้าอาจเล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนากองทุนฯ นี้ขึ้นมา และต้องการจะเข้าร่วมกับอาเซียนด้วยก็ได้ แต่นั่นยังคงเป็นเรื่องอนาคตอยู่ดี

“จีนกับญี่ปุ่นก็เป็น partner กับเรา ท่านกงสุลใหญ่ก็โทรมาคุยกับผมเหมือนกัน เวลานี้จีนไปที่ไหนเขาจะเสนอในลักษณะที่เป็น development fund ร่วมกัน มันก็อาจจะเป็นไปได้” ยุทธศักดิ์ กล่าว

เขายังกล่าวเพิ่มด้วยว่าประเทศไทยควรต้องมองผลกระทบในส่วนที่น่าจะเกิดกับประเทศตัวเองเป็นลำดับแรก และเขาก็ตัดสินใจแล้วว่าจะเสนอให้รัฐบาลพิจารณาโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจ SMEs ไทยใน 2 ประเด็น

โดยประเด็นแรก คือ การจัดตั้งกองทุนพัฒนา SME ของไทยขึ้นมาเอง และประเด็นที่สองคือการวางมาตรการกระตุ้นให้เกิดการร่วมลงทุนใน SME ทั้งที่เป็นในรูปแบบธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital หรือ VC) และธุรกิจร่วมความเสี่ยง (Corporate Venturing หรือ CV)
สำหรับการจัดตั้งกองทุน SMEs ของไทย ผอ.สสว.ย้ำว่า จะยังคงยืนอยู่บนพื้นฐานแนวการจัดตั้งกองทุน SMEs ระดับภูมิภาค โดยมุ่งเน้นทั้งการสนับสนุนด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีแผนรุกออกสู่ตลาดต่างประเทศ และยังจะครอบคลุมถึงการเยียวยากลุ่ม SMEs ในประเทศที่อาจได้รับผลกระทบเชิงลบจากการเกิดขึ้นของ AEC ในปี 2558 ด้วย

“สำหรับประเทศไทยในรัฐบาลใหม่นี้ เราจะเสนอเลยนะว่าประเทศไทยให้ตั้งกองทุนเป็นกองทุนที่มีลักษณะเหมือน AEC Fund และขอให้รัฐบาลจัดงบในปี 55 มาตั้งเป็นกองทุนนี้เลย” ยุทธศักดิ์ ย้ำ

แม้จะยังคงไม่มีความชัดเจนถึงวงเงินที่จะใช้เป็นทุนประเดิมการจัดตั้งกองทุน SME เพราะ ผอ. สสว. บอกต้องขึ้นกับความจริงใจของรัฐบาล แต่ก็ให้ภาพคร่าวๆ ถึงเป้าหมายการใช้จ่ายเงินกองทุนในเบื้องต้น

โดยเจ้าตัวย้ำว่า การใช้เงินกองทุน SMEs นี้ อาจมุ่งเน้นไปในกลุ่มสาขาอุตสาหกรรมการผลิตที่มีผลกระทบเชิงบวกในระดับสูงต่อเศรษฐกิจ (High Impact Sector) ใน 6 สาขาจาก 30 สาขาโดยรวม อันได้แก่ อาหาร, พลาสติก ผลิตภัณฑ์และบรรจุพลาสติก, สิ่งทอ, อัญมณี และยางพารา ซึ่งเป็นไปตามผลวิจัยเบื้องต้นที่ สสว.มีอยู่ในมือหลังร่วมทำวิจัยกับ SMI ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เมื่อก่อนหน้านี้

ส่วนมาตรการกระตุ้นให้เกิดการสร้างธุรกิจใหม่ๆ ของ SME ไทยผ่านการร่วมการลงทุน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ทาง สสว.จะนำเสนอรัฐบาลใหม่นั้น ยุทธศักดิ์บอกว่ารูปแบบร่วมการลงทุนในรอบใหม่นี้ว่าจะไม่ได้มีแค่ “ธุรกิจเงินร่วมลงทุน” Venture Capital (VC) แต่ยังจะรวมถึงรูปแบบที่เรียกว่า “ธุรกิจร่วมความเสี่ยง” (Corporate Venturing (CV)) ด้วย

เมื่อปี 2545 ไทยเคยจัดตั้งกองทุนเวนเจอร์แคปปิตอลเพื่อร่วมลงทุนในกิจการ SMEs ที่มีโอกาสเติบโตมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ความพยายามที่จะใช้กองทุนดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการร่วมลงทุนครั้งนั้นกลับไม่ค่อยประสบผลสำเร็จมากนักที่ในเมืองไทย เนื่องจากปัจจัยที่ไม่ค่อยเอื้ออำนวยต่อการลงทุน เช่น เรื่องระยะเวลาการลงทุนของกองทุน หรือประเด็นปัญหาด้านภาษีจากกรมสรรพากร

อย่างไรก็ตาม การร่วมความเสี่ยงระหว่างบริษัทขนาดใหญ่กับบริษัทขนาดย่อมโดยการใช้ VC ที่ ผอ.สสว.เปรียบเปรยว่าเป็นความร่วมมือในลักษณะคล้ายๆ กับ “พี่ช่วยน้อง” มาเป็นเครื่องมือในการสร้าง SME นั้น แม้จะมีมานานและค่อนข้างได้รับความนิยมอย่างมากในต่างประเทศก็ตาม แต่ที่เมืองไทยแล้วอาจถือว่าเป็นเรื่องใหม่อยู่มากและอาจฟังดูไม่คุ้นหู

ในขณะเดียวกัน ก็ว่ากันว่า การลงทุนแบบนี้มีความเสี่ยงค่อนข้างสูงจากที่เป็นการเข้าลงทุนใน SME ที่ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นของการทำธุรกิจ สถิติเรื่องโอกาสที่จะนำกิจการเข้าจดทะเบียนขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ได้ในอนาคตนั้นมีไม่เกิน 30%

สำหรับรูปแบบการลงทุน CV นั้น อาจคล้ายคลึงกับการลงทุนของ VC ที่จัดตั้งกองทุนเพื่อซื้อหุ้น SME ที่ลักษณะการทำธุรกิจอาจมีความเสี่ยงเรื่องความสำเร็จในเชิงการค้า แม้จะมีโอกาสในการเติบโตในอนาคต แต่ไม่เป็นที่ต้องตาของธนาคารพาณิชย์ เช่น ธุรกิจพัฒนาด้านนวัตกรรม ธุรกิจเทคโนโลยีด้านวัฒนธรรม ธุรกิจเทคโนโลยีสำหรับอนาคต

แต่สิ่งที่ดูว่าจะต่างกันคือ CV จะมีแนวคิดการลงทุนแบบ “Innovation Venturing” หรือ “Strategic Venturing” ในการร่วมทุนความเสี่ยงกับ SME ด้วย กล่าวคือบริษัทขนาดใหญ่สามารถเข้าไปลงทุนในเชิงกลยุทธ์ร่วมกับธุรกิจขนาดย่อมนอกองค์กรของตัวได้ และยังสามารถถ่ายโอนแนวคิด เทคโนโลยี หรือตัวสินค้าที่ได้มาจากธุรกิจขนาดย่อมที่ตัวได้เข้าทำ External Venturing นั้นกลับเข้ามาเก็บใช้ในองค์กรเดิมของตนได้

ทั้งนี้ รูปแบบการทำ VC ธุรกิจขนาดใหญ่จะจัดตั้งหน่วยธุรกิจย่อยที่คนวงการอาจเรียกกันว่า “หน่วยธุรกิจย่อยทุนร่วมความเสี่ยง” (External Venture Capital) เพื่อเข้าลงทุนทั้งในรูปการถือหุ้น รวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านการบริหารแก่ธุรกิจที่พวกตัวเล็งเห็นถึงความโดดเด่นแตกต่างและศักยภาพการเติบโต แต่ยังขาดแคลนทุนทรัพย์ ขาดทักษะการบริหาร ความชำนาญเฉพาะด้าน เช่น ออกแบบ พัฒนานวัตกรรม หรือเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ๆ ที่มีความจำเป็นยิ่งยวดต่อการพัฒนาความเติบใหญ่ในธุรกิจ

“เช่น สมมติว่า กำลังการผลิต SME มีไม่พอ หรืออาจจะขาดเรื่องดีไซน์ แทนที่เราจะใส่เงินเข้าไป VC ก็เข้าไปใช้ความรู้ความชำนาญเรื่องดีไซน์หรืออะไรเพื่อที่จะช่วยพวกนี้ ผมก็คุยกับแบงก์ว่าถ้าแบบนี้แบงก์กล้าปล่อยหรือเปล่า แบงก์บอกว่าแน่นอน เพราะบริษัทใหญ่เข้ามาร่วมเป็นผู้ถือหุ้น ซึ่ง VC มันก็อาจจะเป็นรูปแบบหนึ่งที่กำลังคิดกันอยู่” ผอ.สสว.กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ เป้าหมายสุดท้ายของการทำ CV คือ การถอนตัวจากธุรกิจด้วยการนำกิจการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ขายหุ้นแก่นักลงทุน โดยมีส่วนล้ำของมูลค่าหุ้นเป็นผลตอบแทน หลังร่วมพัฒนาให้ธุรกิจเหล่านี้เติบโตแข็งแรงมากพอมาได้ระดับหนึ่ง จนสามารถที่จะดำรงตนในโลกธุรกิจซึ่งเต็มไปด้วยความรุนแรงของการแข่งขันได้เองโดยลำพังแล้วเช่นเดียวกับกรณีการร่วมลงทุนแบบ VC
กำลังโหลดความคิดเห็น