xs
xsm
sm
md
lg

แนะเอกชนนำเข้าสินค้าทุนช่วงบาทแข็ง “ประสาร” ห่วง 3 งานหินท้าทาย รบ.ปู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล
ผู้ว่าการ ธปท.แนะเอกชนนำเข้าสินค้าทุนช่วงเงินบาทแข็ง หนุนรัฐทุ่มด้านวิจัยและพัฒนา เพื่อปรับโครงสร้าง ศก.ให้แข็งแกร่ง พร้อมส่งสัญญาณใช้นโยบาย ดบ.แบบระมัดระวัง ชี้ จำเป็นต้องปรับให้เข้าสู่ระดับปกติ เพราะแนวโน้มเงินเฟ้อยังสูง พร้อมแสดงความเป็นห่วง 3 งานท้าทายรัฐบาลใหม่ แนะรักษาเสถียรภาพ ศก.แทนกระตุ้นเพิ่ม

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา “ปัจจัยแวดล้อมกับการลงทุนของไทยกับการมองไปข้างหน้าและสิ่งที่เผชิญกับรัฐบาลใหม่” โดยประเมินว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพและเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แต่เพื่อยกระดับการแข่งขันของเอกชนไทยควรใช้โอกาสในช่วงเงินบาทแข็งค่านำเข้าสินค้าทุน เพื่อลดต้นทุนการผลิตของภาคเอกชน การปรับปรุงพัฒนาแรงงานให้มีคุณภาพ แม้จะต้องทยอยปรับเพิ่มค่าแรงงาน แต่การมีแรงงานที่มีคุณภาพ จะส่งผลต่อผลิตภาพการผลิตของสินค้าไทย โดยรัฐบาลให้ความสำคัญในการวิจัยและพัฒนา เนื่องจากงบการวิจัยมีสัดส่วนน้อยมากเพียง 0.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี)

สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนั้น ขณะนี้ดอกเบี้ยแท้จริงติดลบร้อยละ 0.7 เริ่มมีทิศทางดีขึ้นเข้าใกล้ศูนย์ ในส่วนของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงต้องติดตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยอย่างใกล้ชิด เพื่อสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ เพื่อให้ดอกเบี้ยแท้จริงเข้าสู่จุดสมดุล

ดังนั้น การดำเนินนโยบายดอกเบี้ย นโยบายในระยะต่อไป ธปท.ยังจำเป็นต้องปรับให้เข้าสู่ระดับปกติต่อไป เนื่องจากแนวโน้มเงินเฟ้อยังสูง และดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงยังติดลบอยู่ ซึ่นตอนนี้ พบว่าติดลบอยู่ประมาณ 0.7% อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจยังแรงขับเคลื่อนที่ดีมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง

“ภาวะเศรษฐกิจตอนนี้เรายังจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินปรับดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นไปจนทำให้ดอกเบี้ยเงินฝากแท้จริงซึ่งติดลบอยู่ 0.7% กลายเป็น 0% ต้องให้เหมาะสมกับภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย ประเมินเศรษฐกิจเป็นระยะ”

สำหรับการปรับเพิ่มดอกเบี้ยระยะสั้น ธนาคารพาณิชย์ปรับเพิ่มทั้งดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากประจำ ส่วนดอกเบี้ยออมทรัพย์คงอยู่ที่สถานการณ์ของตลาด เพราะเป็นบัญชีเงินฝากสำหรับพักเงิน เพื่อการเบิกจ่ายไม่สูงขึ้นเหมือนดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่หวังผลตอบแทน

ส่วนการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ผู้ว่าการ ธปท.มองว่า มีงานที่ท้าทายใน 3 เรื่อง คือ 1. การสร้างความสมดุลระหว่างการลงทุนและการบริโภค โดยที่การลงทุนของภาครัฐบาลในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ในหลายสาขา ทั้งระบบลอจิสติกส์ ชลประทาน ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวตาม โดยที่รัฐบาลต้องมีการจัดลำดับความสำคัญในการลงทุนเพื่อเพิ่มผลิตภาพของประเทศ และเพื่อให้การใช้เงินงบประมาณเกิดประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันจะสร้างแรงกดดันต่อการเร่งตัวของเงินเฟ้อน้อยที่สุด เพื่อให้ภาคเอกชนได้มีเวลาปรับตัว

2.ต้องยึดวินัยการเงินการคลัง ลดมาตรการสร้างแรงจูงใจทางการคลัง เพื่อไม่ให้ก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น และกระทบเสถียภาพการคลัง ในระยะยาว และ ปรับโครงสร้างภาษีจะต้องไม่บิดเบือนและนำไปสู่การจัดทำงบประมาณแบบสมดุล 3.นโยบายการคลังต้องสนับสนุนและสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน

ทั้งนี้ เงินเฟ้อที่สูงขึ้นสะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจที่เข้าสู่ระดับปกติ ดังนั้น นโยบายของรัฐบาลไม่จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ต้องดูแลให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพ มีการเพิ่มประสิทธิภาพผลิตผลของประเทศ ขณะที่ความมีเสถียรภาพทางการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แม้การเลือกตั้งจะผ่านพ้นไปด้วยดี แต่ปัญหาความขัดแย้งยังคงมีอยู่ และจำเป็นต้องมีการแก้ไขเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อภาคเอกชนและนักลงทุนต่างประเทศ

ส่วนภาคเอกชน ผู้ว่าการ ธปท.มองว่า มีงานท้าทาย 2 เรื่อง คือ 1. ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ที่ไม่ควรพึ่งพาแรงงานต่างด้าว แต่จะต้องมีการปรับปรุงเครื่องจักร โดยใช้โอกาสที่เงินบาทแข็งค่าในการนำเข้าเข้าเครื่องกจัรก และมีการพัฒนาการศึกษาทรัพยากรมนุษญ์มากขึ้น เพื่อสร้างงานงานทักษะ ทำให้การลงทุนมีประสิทธิภาพ เพราะการพึ่งแรงงานต่างด้าว ไม่ใช่ทางเลือกที่ต้องใช้ในระยะยาว และ 2.การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา ซึ่งปัจจุบันภาคเอกชนมีการลงทุนด้านนี้เพียง 0.2% ของจีดีพี ดังนั้น ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องส่งเสริมด้านนี้ให้มากขึ้น

นายประสาร กล่าวว่า การปรับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ที่ต้องอาศัยความร่วมมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนยังไม่เพียงพอ แต่ไทยต้องก้าวสู่ตลาดโลกในระยะข้างหน้าที่เป็นเรื่องท้าทาย ดังนั้น ความร่วมมือจากภาคีต่างๆ แล้ว จะต้องมีการร่วมมือกันในระดับภูมิภาคด้วย

อย่างไรก็ตาม ในปี 2554 คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ในระดับปกติ โดยในช่วงครึ่งปีแรกมีการเติบโตได้พอสมควร และช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะเติบโตได้ต่อเนื่อง ซึ่งการเติบโตของเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกและภายใน ที่การส่งออกยังขยายตัวได้มาก ปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วน (supply chain) ในอุตสาหกรรมรถยนต์น่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้หลังญี่ปุ่นได้ฟื้นฟูประเทศตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา ขณะที่การบริโภคและการลงทุนในประเทศยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง รายได้ภาคเกษตรยังเพิ่มสูงขึ้น

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจของจีน อินเดีย มีแนวโน้มเติบโตได้ดีและจะมีความสำคัญมากต่อเศรษฐกิจโลก ดังนั้น การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 จะเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานและเงินทุน รัฐบาลต้องมีนโยบายรองรับแนวทางดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับความร่วมมือของกลุ่มอาเซียน ยอมรับว่าขณะนี้ปัญหาการเมือง ของไทยมีความสงบปรองดองดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา น่าจะสร้างบรรยากาศการค้าการลงทุนได้ดี

นายดุสิต นนทะนาคร ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการสำรวจความเห็นของสำนักโพลล์ก่อนหน้านี้ สัดส่วนกว่าร้อยละ 60 คนรุ่นใหม่ มีความเห็นยอมรับการโกงของผู้บริหารบ้านเมืองหรือองค์กร แต่สามารถบริหารบ้านเมือง หรือองค์กรให้เติบโตได้ นับเป็นความคิดของคนรุ่นใหม่ที่น่ากลัว เพราะเป็นการยอมให้มีคนโกงอยู่ในบ้านเมือง ทำให้องค์กรหรือประเทศเกิดความเสียหาย ดังนั้น ทุกคนจึงต้องช่วยกันลบแนวคิดดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย ยกย่องคนโกง เข้ามาบริหารประเทศหรือองค์กร
กำลังโหลดความคิดเห็น