xs
xsm
sm
md
lg

ครม.นัดสุดท้าย รับทราบ มาตรการกำกับดูแลสินค้า-ปรับโครงสร้างหนี้ชาวนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประชุม ครม.นัดสุดท้าย รับทราบมาตรการกำกับดูแลสินค้าและบริการ 225 รายการ โดยจัดแบ่งเป็น 3 กลุ่ม เพื่อเป็นเครื่องมือในการติดตามดูแลราคาสินค้า และสัญญาณเตือนภัยในระดับปฏิบัติการ พร้อมรับทราบ นโยบายปรับโครงสร้างหนี้ช่วยเกษตรกร ของกระทรวงการคลัง

นายวัชระ กรรณิกา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ โดยระบุว่า ที่ประชุมได้รับทราบมาตรการกำกับดูแลสินค้าสำคัญ 205 รายการ และบริการ 20 รายการ ประจำเดือนกรกฎาคม 2554 ตามที่กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าภายใน ได้มีการกำหนดระดับความสำคัญของสินค้าที่ต้องติดตามดูแล 205 รายการ และบริการ 20 รายการ เป็นประจำทุกเดือนตามสถานการณ์หรือปัจจัยการผลิตที่เปลี่ยนแปลง เพื่อเป็นเครื่องมือในการติดตามดูแลราคาสินค้าและสัญญาณเตือนภัยในระดับปฏิบัติการ

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ให้รายงานว่า ในเดือนกรกฎาคม 2554 ได้ประเมินและคาดการณ์แนวโน้มของสถานการณ์ด้านราคาและปริมาณของสินค้าและบริการ โดยได้ปรับเปลี่ยนการจัดระดับความสำคัญของสินค้าทั้ง 3 กลุ่ม เป็นดังนี้

กลุ่มแรก คือ กลุ่ม Sensitive List (SL) สินค้า 9 รายการ ได้แก่ (1) น้ำมันเบนซิน (2) น้ำมันดีเซล ราคาน้ำมันดิบปรับสูงขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในลิเบียยังคงยืดเยื้อประกอบกับกลุ่มโอเปกตัดสินใจคงโควต้าการผลิตน้ำมันดิบไว้ที่ระดับเดิม (24.84 ล้านบาร์เรล/วัน) (3) เหล็กเส้น (4) เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ราคาวัตถุดิบปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากการเจรจาตกลงซื้อ-ขาย สินแร่เหล็กในไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 คาดว่าราคาจะปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ของปี 2552 (5) เหล็กแผ่น (รีดร้อนรีดเย็น และสแตนเลส) ราคาวัตถุดิบปรับลดเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในระดับสูง (6) ปูนซีเมนต์ ราคาถ่านหิน ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง แม้ว่าจะอยู่ในช่วงฤดูฝน ทำให้มีอุปสรรคในการขนส่งในประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ คือประเทศอินโดนีเซีย และออสเตรเลีย

(7) สายไฟฟ้า ราคาทองแดงปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากการเก็งกำไรในตลาดล่วงหน้าค่อนข้างสูง (8) ปุ๋ยเคมี ราคาปุ๋ยยูเรียสูงขึ้นเนื่องจากความต้องการใช้เพิ่มมากขึ้น ผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับจีนซึ่งเป็นผู้ส่งออกปุ๋ยยูเรียรายใหญ่ ส่งออกปุ๋ยยูเรียลดลงเพราะนำก๊าซธรรมชาติที่เป็นวัตถุดิบผลิตปุ๋ยยูเรียไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมในประเทศมากขึ้น (9) อาหารสัตว์ ราคาข้าวโพดมีความผันผวนขึ้น-ลงอยู่ในระดับสูง เนื่องจากช่วงนี้มีสินค้าอยู่ในสต๊อกเพียงพอ จึงชะลอการรับซื้อและบริการ 1 รายการ ได้แก่ บริการรับส่งสินค้า เอกสาร หรือพัสดุภัณฑ์รับส่งโทรสาร

2.กลุ่ม Priority Watch List (PWL) สินค้า 8 รายการ ได้แก่ (1) น้ำตาลทราย ผลผลิตอ้อย มีมากกว่าที่ประมาณการไว้ จึงไม่น่าจะมีปัญหาด้านปริมาณส่งผลให้ราคาน้ำตาลทรายในประเทศทรงตัว (2) น้ำมันพืช รัฐบาลประกันราคารับซื้อน้ำมันปาล์มดิบส่งผลให้ราคายังทรงตัวในระดับสูง เมล็ดถั่วเหลืองเนื่องจากราคาทรงตัวในระดับสูงผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง (3) อาหารปรุงสำเร็จ ราคาวัตถุดิบหลักคือ เนื้อสัตว์ยังคงอยู่ในระดับสูง (4) ก๊าซ LPG หุงต้ม ราคาปิโตรมินลดลงตามความผันผวนของราคาน้ำมันดิบ แต่ยังคงอยู่ในระดับสูง (5) ยางรถยนต์ ราคายางดิบยังคงทรงตัวในระดับสูง เนื่องจากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์มีอย่างต่อเนื่อง (6) เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก

(7) เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม เนื่องจากคาดว่าราคาวัตถุดิบสำคัญคือ เหล็กแผ่นรีดเย็น TMBP จะปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากการตกลงซื้อในไตรมาสที่ 3 มีการปรับราคาเหล็กแผ่นเพิ่มขึ้น (8) ยาป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชราคาไกลโฟเสทยังคงทรงตัวในระดับสูง และบริการ 1 รายการ ได้แก่ บริการซ่อมรถ

3.กลุ่ม Watch List (WL) ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่ราคาเคลื่อนไหวเป็นปกติ ยังไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าจะมีปัญหาทั้งด้านราคาและปริมาณสินค้าที่จำหน่าย ซึ่งจะทำการติดตาม ตามปกติ จำนวน 188 รายการ และบริการ 18 รายการ

**รับทราบนโยบายปรับโครงสร้างหนี้ช่วยเกษตรกร

สำหรับในส่วนของกระทรวงการคลัง มีการรายงานเรื่องความคืบหน้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้ และฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร ในนโยบายการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่เสียชีวิต พิการ หรือทุพพลภาพ จนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ 3 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ 1 เกษตรกรที่เสียชีวิต พิการ หรือทุพพลภาพ จนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ และเป็นสมาชิกสำนักกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร หรือ กฟก.และขึ้นทะเบียนหนี้ ไม่เกินรายละ 2.5 ล้านบาท

กลุ่ม 2 เกษตรกรที่เสียชีวิต พิการ หรือทุพพลภาพจนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ แต่ไม่เป็นสมาชิก กฟก.หรือเป็นสมาชิกแต่ไม่ขึ้นทะเบียนหนี้ ไม่เกินรายละ 2,500,000 บาท และกลุ่ม 3 เกษตรกรที่เสียชีวิต พิการ หรือทุพพลภาพจนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ของสถาบันการเงินอื่น ไม่เกินรายละ 2,500,000 บาท

อย่างไรก็ตาม สถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง ได้ประมาณการลูกหนี้กรณีดังกล่าว โดยจำนวนเกษตรกรทั้งหมด 460,645 ราย วงเงิน 67,055 ล้านบาท และเสียชีวิตและทุพพลภาพ 4,000 ราย วงเงิน 600 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น