xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ สั่งพาณิชย์หั่นราคาไข่ไก่ลง 20 สตางค์ เบรกขึ้นค่าเรือโดยสาร 1 บาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
นายกฯ ขึงขังไล่บี้ "พาณิชย์" กลาง ครม. สั่งหั่นราคาไข่ไก่ลงอีกฟองละ 20 สตางค์ แฉพ่อค้าวิ่งล็อบบี้ไม่ให้ปรับลง "วัชรี" ทำหน้าจ๋อย เผยมีสินค้า 5 กลุ่มใหญ่ต่อแถวโขกราคาขึ้น แบตเตอรี่ สายไฟฟ้า เหล็ก ยางรถยนต์ ผงชูรส พร้อมสั่งเบรกเรือด่วน-ข้ามฟากขยับ 1 บาท และยังรับทราบโครงการปุ๋ยสั่งตัด เริ่มดำเนินการแล้ว ทั้งภาคเหนือ-อีสาน

นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า กระทรวงกระทรวงพาณิชย์ได้รายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภค โดยในส่วนของสินค้าปศุสัตว์ ได้แก่ สุกร ไข่ไก่ คาดว่าราคาจะปรับตัวลดลง เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น เป็นผลจากภาวะอากาศเริ่มดีขึ้น ส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของไก่และสุกร โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นใน ครม.ว่า ราคาไข่ไก่สามารถลดลงได้อีกฟองละ 20 สตางค์เป็นอย่างน้อย จึงให้กระทรวงพาณิชย์ไปหาแนวทางปรับลดราคาไข่ไก่และเนื้อสุกรลง
มีรายงานว่า ขณะที่นางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน และนายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงราคาไข่อยู่นั้น นายอภิสิทธิ์ได้กล่าวขึ้นว่า มีคนพยายามผลักดันไม่ให้ปรับลดราคาไข่ลง ซึ่งคนคนนี้เข้าออกกระทรวงพาณิชย์หลายครั้งแล้ว พร้อมทั้งเอ่ยชื่อบุคคลดังกล่าว ทำให้นางวัชรีได้แต่ยิ้มหน้าเจื่อนๆ
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้รายงานว่า ในปี 2554 มีเอกชนขอแจ้งปรับราคาสินค้ารวม 11 รายการ ประกอบด้วย น้ำมันพืชปาล์ม, น้ำมันพืชถั่วเหลือง, นมสด, ปุ๋ยเคมี, เหล็ก, แบตเตอรี่, ยางรถยนต์, สายไฟฟ้า, สบู่, น้ำมันหล่อลื่นและผงชูรส ซึ่งได้เห็นชอบให้ปรับราคาไปแล้ว 4 รายการ คือ น้ำมันพืชปาล์ม, น้ำมันพืชถั่วเหลือง, นมสด และปุ๋ยเคมี
และมีสินค้าอยู่ระหว่างพิจารณา 5 รายการ เป็นสินค้าที่ต้นทุนสูงขึ้นจากวัตถุดิบนำเข้าจำนวน 3 รายการ ได้แก่ แบตเตอรี่รถยนต์ ต้นทุนสูงขึ้น 15-27% สายไฟฟ้าต้นทุนสูงขึ้น 51-70% เนื่องจากทองแดงสูงขึ้น 106% ขณะที่ผลิตภัณฑ์เหล็กต้นทุนสูงขึ้น 15.38-26.92% เนื่องจากเหล็กนำเข้าราคาสูงขึ้น 37-90% และมี 2 รายการที่มีต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากผลกระทบของราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ ยางรถยนต์ ต้นทุนสูงขึ้น 0.79-10.36% เนื่องจากราคายางธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้น 169.19% และผงชูรสที่ต้นทุนสูงขึ้น 10.84-12.50% เนื่องจากราคาแป้งมันสำปะหลังเพิ่มสูงขึ้น 42%
สำหรับราคาน้ำมันปาล์มขวดที่กำหนดไว้ที่ขวดละ 47 บาท เพื่อให้เกษตรกรขายผลปาล์มได้กิโลกรัมละ 6 บาทนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่ายังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนกัน ซึ่งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงว่า กระทรวงพาณิชย์ต้องส่งสัญญาณให้ชัดเจนว่าราคาขวดละ 47 บาท เป็นราคาควบคุมที่กำหนดเพดานสูงสุด ขณะที่ต้นทุนลด ผู้ประกอบการสามารถปรับลดราคาลงได้เอง อยู่ที่ดุลพินิจของผู้ประกอบการจะตั้งขายราคาขวดละเท่าไร
นายวัชระกล่าวอีกว่า ได้รับทราบตามที่นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม รายงานว่าจะขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการภาคเอกชนขอเลื่อนการปรับอัตราค่าโดยสารเรือออกไปก่อน จากที่ก่อนหน้านี้คณะกรรมการพิจารณาเกี่ยวกับเดินเรือประจำทาง อนุมัติให้ปรับอัตราค่าโดยสารเรือด่วนเจ้าพระยา และคลองแสบแสน ระยะละ 1 บาท และปรับขึ้นค่าโดยสารเรือข้ามฟากอีก 0.50 บาท จำนวน 3 ท่า ประกอบด้วย ท่าเรือสี่พระยา-คลองสาน, ท่าเรือสะพานสาธร-ตากสิน และท่าเรือพระสมุทรเจดีย์-ปากน้ำ จากเดิมที่จะปรับเพิ่มขึ้นวันที่ 20 มิ.ย.2554

ครม.วันนี้ ยังรับทราบตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี) ประธานกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร รายงานความก้าวหน้าโครงการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร (ปุ๋ยสั่งตัด) ซึ่งผลการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ การวิเคราะห์ข้อมูลการใชปุ๋ยเคมีเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรในคราวแรกได้มุ่งเน้นเฉพาะข้าวนาปีตามข้อ 1 แต่ต่อมา ครม.ได้เพิ่มเติมให้มีการชดเชยพืช อีก 2 ชนิด คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง ดังนั้นตามหลักวิชาการจำเป็นต้องเพิ่มปุ๋ยสูตรอื่นสำหรับพืช 2 ชนิดดังกล่าว คณะกรรมการจึงได้มีมติเห็นชอบกำหนดสูตรปุ๋ยอีก 3 สูตร ได้แก่ สูตร 18-46-0 สูตร 0-0-60 และสูตร 13-13-21 เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับการดำเนินโครงการที่กำหนดการชดเชยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลังเพิ่มเติม

โครงการได้เริ่มต้นดำเนินการในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือทุกจังหวัด ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2554 ต่อจากนั้นจะดำเนินโครงการในภาคกลางทุกจังหวัดประมาณกลางเดือนกรกฎาคม 2554 แล้วดำเนินการในพื้นที่ภาคใต้เป็นภาคสุดท้าย เนื่องจากมีช่วงฤดูกาลผลิตที่ต่างกันตามแต่ละภาค โดยในชั้นแรกที่จะดำเนินการในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ใช้สูตรปุ๋ยจำนวน 7 สูตร ได้แก่ สูตร 46-0-0 สูตร 16-20-0 สูตร 16-16-8 สูตร 16-8-8 สูตร 18-12-6 สูตร 15-15-15 และ สูตร 13-13-21 ในพืช 3 ชนิด คือ ข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลัง ส่วนสูตร 18-46-0 และสูตร 0-0-60 จะดำเนินการในระยะต่อไป โดยใช้ราคาอ้างอิงตามที่ภาคเอกชนขอปรับราคาจำหน่ายมาที่กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการต่อไป

คณะกรรมการได้กำหนดคำแนะนำในการใช้ปุ๋ยของเกษตรกรและสิทธิที่จะได้รับการชดเชยราคาปุ๋ย จากข้อมูลของเกษตรกรโครงการประกันรายได้ของพืช 3 ชนิด ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และ มันสำปะหลัง ปีเพาะปลูก 2553/2554 ซึ่งมีเนื่องที่ปลูกพืชเกษตรดังกล่าว รวม 71.47 ล้านไร่ และประมาณการจำนวนการปุ๋ยที่เกษตรกรต้องใช้ตามสิทธิและสอดคล้องกับคำแนะนำทางวิชาการของโครงการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรร เป็นจำนวน 2.29 ล้านตัน ซึ่งคาดว่าจะใช้วงเงินชดเชยค่าปุ๋ยประมาณทั้งสิ้น 3,435.00 ล้านบาท

คณะกรรมการได้มีมติให้ดำเนินโครงการ 84 ตำบลปุ๋ยลดต้นทุนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระชนมายุ 84 พรรษา โดยเป็นการเก็บและวิเคราะห์ดินตามหลักวิชาการอย่างแท้จริง ซึ่งใช้ข้อมูลจากการเก็บและวิเคราะห์ดินจากหมอดินอาสาและเจ้าหน้าที่จากกรมพัฒนาที่ดินที่มีความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ในพื้นที่ภาคกลางจะเป็นการดำเนินการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลดินให้แล้วเสร็จภาคใน 6 สัปดาห์ เพื่อใช้ในปีเพาะปลูกปัจจุบัน และในส่วนพื้นที่ภาคเหนือแลพภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 5 เดือน เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ในการดำเนินงานครั้งต่อไป

โครงการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร จัดทำขึ้นเพื่อให้เกษตรกรมีการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างมีประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการใช้ปุ๋ย ที่ในปีการเพาะปลูก 2554/2555 ราคามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ปุ๋ยเคมี และสามารถลดต้นทุนจากการใช้ปุ๋ยเคมีลง ตลอดจนส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยตามศักยภาพของชุดดินและผลการวิเคราะห์ดินที่เป็นปัจจุบัน โดยผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการดังกล่าวจะต้องเป็นเกษตรกรในโครงการประกันรายได้ข้าวนาปี ข้าวโพดสัตว์เลี้ยง และ มันสำปะหลัง ปีเพาะปลูก 2553/2554 ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรในโครงการดังกล่าวประมาณ 4.8 ล้านราย โดยจะได้รับการชดเชยตามจำนวนพื้นที่เพาะปลูกที่มีสิทธิและปริมาณปุ๋ยเคมีต่อไร่ที่เท่ากันทุกภาคตามที่คณะกรรมการพิจารณากำหนด ซึ่งเห็นชอบให้มีการชดเชยส่วนต่างราคาปุ๋ยเคมีให้ผู้เข้าร่วมโครงการในอัตรากิโลกรัมละ 1.50 บาท หรือตันละ 1,500 บาท

พร้อมกันนี้ ครม.ได้เห็นชอบให้กระทรวงพาณิชย์ กำหนดราคาปุ๋ย 6 สูตร คือ สูตร 46-0-0 สูตร 16-20-0 สูตร 16-16-8 สูตร 16-8-8 สูตร 18-12-6 และสูตร 15-15-15 ซึ่งเป็นสูตรปุ๋ยที่เกษตรกรใช้เป็นส่วนใหญ่และควบคุมราคาขายปุ๋ยในแต่ละสูตรของผู้ประกอบการแต่ละรายให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงของต้นทุนและสต๊อกปุ๋ยที่มีอยู่ ประกอบกับเห็นชอบให้กระทรวงการคลังดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อจัดหาปุ๋ยเคมีของเกษตรกร เพื่อเป็นการสนับสนุนการดเนินงานส่งเสริมการใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น