xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแผนฯ ฉบับ 11 เน้นความสุขมากกว่าจีดีพี ยอมรับแผนฯ 10 ธรรมาภิบาลวูบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สศช.ระดมความเห็นทุกฝ่าย จัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 ก่อนประกาศใช้ 1 ต.ค.นี้ โดยมีเป้าหมายหลักให้ ปชช.อยู่เย็นเป็นสุข บ้านเมืองสงบ ไม่เน้นการโตของ “จีดีพี” พร้อมมุ่งลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และลดปัญหาคอร์รัปชัน ส่วนการประเมินแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 ตัวเลข ศก.โต แต่สังคมเสื่อม ดัชนีธรรมาภิบาลวูบ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวถึงการประชุมประจำปี เรื่องแผน 11 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยระบุว่า เป็นการประชุมเพื่อจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 โดยระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการ นักธุรกิจ ประชาชน และสื่อมวลชน มุ่งให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข และสงบสุข ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ลดปัญหาคอร์รัปชัน

นอกจากนี้ ยังต้องการให้คนไทยได้เรียนรู้ตลอดเวลา สังคมมีความเข้มแข็ง ให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3 ต่อปี เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพิ่มมูลค่าของผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ให้มีสัดส่วนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)

สำหรับรายละเอียดของแผนฯ ฉบับที่ 11 ภายใต้วิสัยทัศน์ “สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ด้วยความเสมอภาคเป็นธรรมและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง” โดยกำหนด 6 ยุทธศาสตร์ คือ 1.การสร้างความเป็นธรรมในสังคม 2.การพัฒนาคนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน 3.ความเข้มแข็งภาคเกษตร ความมั่นคงของอาหารและพลังงาน 4.การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน 5.การสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาคเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม 6.การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

“อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น สศช.คงไว้ที่ระดับ 4-5% เท่ากับแผนฯ ฉบับที่ 10 ซึ่งน่าจะเหมาะสมหากเพิ่มประสิทธิภาพทั้งการบริหารจัดการทรัพยากร การลงทุนหรือการสนับสนุนเอสเอ็มอียังมีรูมที่จะเพิ่มอัตราการเติบโตได้อีก 0.5% ส่วนอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3-4% ซึ่งระยะ 5 ปีที่ผ่านมาเงินเฟ้ออยู่ที่ 3.3% เป็นอัตราที่ดูแลได้ตามเป้า”

นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่า ในปี 2563 ไทยจะมีจำนวนประชากร 71.4 ล้านคน วัยทำงานอายุระหว่าง 15-59 มีสัดส่วนร้อยละ 63.5 ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป สัดส่วนร้อยละ 16.4 ซึ่งเมื่อระดมความคิดเห็นได้ข้อสรุปชัดเจนแล้ว จะนำร่างแผนพัฒนาฉบับที่ 11 เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อประกาศใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2554 ต่อไป

สำหรับสรุปผลการประเมินแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2550-2554 นั้น ภาพรวมเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ค่าเฉลี่ยที่ 3.4% เป็นอัตราที่ต่ำกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ 4-5% หากไม่ติดลบกว่า 2.3% ในปี2552คงจะเติบโตได้ตามเป้าและในปี2553 เศรษฐกิจเติบโตได้ 7.8% ขณะที่ความอยู่เย็นเป็นสุขในช่วงแผนฯ ฉบับที่ 10 ดีขึ้นเล็กน้อยจาก 66.33% เพิ่มเป็น 66.8%

ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่ ขาดความสมานฉันท์ในสังคม สภาพแวดล้อมและระบบนิเวศขาดความสมดุลโดยดัชนีด้านสิ่งแวดล้อมลดลงมา 1% จากปี 2549 อยู่ที่ 71.4% โดยประเทศไทยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 9.6% ต่อปีสูงกว่าประเทศในอาเซียนค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 6.9% รวมถึงสุขภาวะของคนไทย พบว่า ยังมีปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจ ความดัน หลอดเลือดในสมองและมะเร็ง ด้านธรรมาภิบาลจากปี 2549 อยู่ที่ 75% ลดลงมากในปี 2553 อยู่ที่ 56%สาเหตุจากความคิดไม่ตรงกันทำให้ความอยู่เย็นเป็นสุขด้อยลง อีกทั้งยังมีคอร์รัปชันเป็นปัญหาดัชนีภาพลักษณ์ส่วนการจ้างงานมีอัตราการว่างงานอยู่ในเกณฑ์ต่ำประมาณ 0.9-1.0% ทำให้ภาคเกษตรและอุตสาหกรรมขาดแคลนแรงงาน

ขณะที่คุณภาพของคน พบว่า มีการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษามากกว่าอาชีวะแต่ความเก่งในวิชาหลักยังด้อย เช่น ภาษาอังกฤษคณิต คะแนนผลสัมฤทธิ์ยังสู้ประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีประชากรไทยชนะโอลิมปิกก็ตาม นอกจากนี้ ด้านชุมชนซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการยกระดับชุมชนสามารถดูแลตัวเองได้ตามเป้าที่ 71% แต่พบว่ามีชุมชนเพียง 26% เท่านั้นที่ดูแลตัวเองในภาวะดีเลิศ ทั้งนี้ ปัจจุบันมีชุมชนที่ยกระดับเป็นสถาบันการเงินฐานรากแล้ว 1,700 แห่งจากสิ้นปี 2552 มีจำนวน 400 แห่ง และด้านการออมมีการปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยปัจจุบันอยู่ที่อัตรา 29-30% โดยขณะนี้มี พ.ร.บ.การออมแห่งชาติ เป็นเครื่องมือเพิ่มอัตราการออมในอนาคตข้างหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น