“พาณิชย์” สั่งลดราคาปาล์มขวดลง 5 บาทเหลือ 42 บาท ดีเดย์ 1 ก.ค.นี้ ยันไม่ต้องขออนุมัติบอร์ดปาล์มใหญ่ พร้อมสั่งห้ามส่งออกหมู เริ่มทันที 30 มิ.ย.นี้ หลังปริมาณไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ ต้นเหตุหมูราคาแพง เผยตรวจพบส่งออกไปเขมรสูงถึง 1.8 แสนตัว ด้านผู้เลี้ยงโวย แก้ปัญหาไม่ถูกจุด แนะปล่อยราคาหมูตามกลไกตลาด ลดปัญหาลอบส่งออก
นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) โดยระบุว่า ที่ประชุมมีมติออกมาตรการห้ามเคลื่อนย้ายสุกรเป็นออกนอกประเทศเป็นการชั่วคราว โดยจะมีการตรวจสอบดูแลในเขตจังหวัดชายแดนที่ติดกับประเทศกัมพูชา เช่น สระแก้ว จันทบุรี เป็นต้น ซึ่งจะมีผลทันทีตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2554 นี้ เนื่องจากขณะนี้ พบว่า ปริมาณการผลิตมีไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ ส่งผลให้ราคาจำหน่ายสุกรในประเทศมีราคาที่สูงขึ้น ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการที่ผู้เลี้ยงนำสุกรออกไปจำหน่ายให้กับประเทศเพื่อนบ้านที่มีราคาสูงกว่าราคาในประเทศอยู่ประมาณ 10 บาท
โดยราคาสุกรเป็นในประเทศปัจจุบันมีราคา 70 บาทต่อตัว เทียบกับราคาสุกรในกัมพูชาที่มีราคาสูงกว่าอยู่ที่ 85 บาทต่อตัว และเวียดนามอยู่ที่ 90 บาทต่อตัว จึงเป็นเหตุจูงใจให้ผู้เลี้ยงนำหมูออกไปจำหน่ายให้กับประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ซึ่งจากตัวเลขส่งออกสุกร พบว่าสูงขึ้นมากผิดปกติ โดยในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2554 มีปริมาณการส่งออกสุกรไปยังกัมพูชา 180,000 ตัว สัดส่วนสูงขึ้นถึง 91% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีการส่งออกเพียง 92,000 ตัว โดยคาดว่าหลังจากออกประกาศแล้วภายใน 1 สัปดาห์ ราคาหมูเป็นน่าจะลดลงมาอยู่ในระดับปกติ
นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้นางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน เรียกประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาราคาแนะนำน้ำมันพืชในวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 นี้ เพื่อปรับลดราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวด (1 ลิตร) ลงอีก 5 บาท หรือจากขวดละ 47 บาท เหลือ 42 บาท เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบผลปาล์มสดมีแนวโน้มราคาลดลงเหลือกิโลกรัมละ 4-5 บาท ดังนั้น จึงต้องปรับลดราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวดให้สอดคล้องกับต้นทุน
ทั้งนี้ การปรับลดราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวดของกระทรวงพาณิชย์ครั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องขออนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพราะมาตรการที่ให้ตรึงราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวดไว้ที่ 47 บาท จะหมดอายุลงในวันที่ 30 มิถุนายน 2554 นี้ เท่ากับว่า เป็นการยกเลิกมติคงราคาดังกล่าวไปโดยปริยาย
ด้าน นายธีรชัช ลีลาขจรจิต ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรชลบุรี เปิดเผยว่า สถานการณ์สุกรในช่วงนี้ยังเกิดปัญหาขาดแคลนทั่วทั้งภูมิภาคเอเชีย เพราะสภาพอากาศแปรปรวนและภาวะโรคสุกร ส่งผลให้ราคาสุกรหน้าฟาร์มในภูมิภาคนี้ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในทุกประเทศ ได้แก่ จีนราคากิโลกรัมละ 100 บาท กัมพูชาราคากิโลกรัมละ 94 บาท ลาว มาเลเซีย และเวียดนาม ราคาเท่ากันกิโลกรัมละประมาณ 90 บาท ขณะที่ราคาสุกรหน้าฟาร์มในประเทศไทย อยู่ที่กิโลกรัมละ 70 บาท นับว่าเป็นราคาต่ำที่สุดในภูมิภาคนี้ และยังถูกควบคุมราคาโดยรัฐบาล
จากสภาพอากาศแปรปรวนทั้งร้อนจัดแล้งจัดและฝนตกหนักน้ำท่วมที่เกิดขึ้นทั่วภูมิภาค ตั้งแต่ช่วงปีที่ผ่านมา มีส่วนสำคัญต่อสุขภาพสัตว์และทำให้เกิดภาวะโรคระบาดต่างๆ ได้ง่ายขึ้น จึงเป็นสาเหตุหลักของการขาดแคลนเนื้อสุกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคท้องร่วงติดต่อในสุกร (PED) ที่ก่อความเสียหายต่อลูกสุกร การระบาดของโรค PRRS สายพันธุ์จีนที่ทำให้สุกรแม่พันธุ์หายไปจากวงจรการผลิตถึง 24,000 แม่ และกระทบเป็นลูกโซ่มาถึงปริมาณสุกรขุนที่หายไปจากระบบไม่ต่ำกว่า 3,000 ตัวต่อวัน ขณะเดียวกัน ได้มีรายงานของกรมปศุสัตว์ระบุว่าเกิดโรค FMD ในสุกรรุ่นแถบภาคตะวันออกและภาคกลางอีกด้วย
นายธีรชัช กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ข่าวโรงชำแหละไก่ไม่ได้มาตรฐาน ยังทำให้ผู้บริโภคส่วนหนึ่งหันมาบริโภคเนื้อหมูแทน จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปริมาณเนื้อสุกรไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร จึงต้องขอความเห็นใจจากภาครัฐและผู้บริโภคให้เข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่าระดับราคาเนื้อหมูที่สูงขึ้นในช่วงนี้ไม่ได้เกิดจากการปั่นราคาแต่อย่างใด และเชื่อว่าสถานการณ์ทั้งหมดจะคลี่คลายและเข้าสู่ภาวะปกติในอีกระยะหนึ่ง หลังจากประเทศไทยสามารถควบคุมปัญหาโรคระบาดในสุกรได้
สำหรับการส่งออกสุกรนั้นเป็นไปตามสัญญาการค้ากับคู่ค้าเดิม จากปกติจะมีเพียง 800-1,000 ตัวต่อวันเท่านั้น และหากรัฐบาลจะสั่งห้ามการส่งออกสุกรอาจทำให้ประเทศไทยสูญเสียตลาดในส่วนนี้ไป เมื่อเกิดภาวะสุกรล้นตลาดในประเทศจะทำให้ไทยไม่มีตลาดรองรับ รัฐจึงควรเข้มงวดในการควบคุมการลักลอบส่งออกมากกว่า หรือปล่อยให้ระดับราคาในประเทศเป็นไปตามกลไกตลาด จะทำให้พ่อค้าไม่มีเหตุจูงใจให้ต้องลักลอบส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านเอง