xs
xsm
sm
md
lg

ตีกลับแผนขยายหมอชิต 2 คค.ห่วงไม่คุ้ม-หวั่นแข่งเดือด ไฮสปีดเทรน-โลว์คอสต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปลัดคมนาคม ให้ บขส.ศึกษาเพิ่มเติม กรณีขยายสถานีขนส่งหมอชิต 2 หากเช่าที่ดินรถไฟร่วมกับการใช้พื้นที่ ขสมก.จะสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างไร และหากต้องการขยายเพิ่มเป็น 100 ไร่ จะจัดหาที่ดินอย่างไร พร้อมให้กลับไปดูความต้องการเดินทางช่วงเทศกาลในอนาคตวันละ 2 แสนคน หากมีการแข่งขันกับรถไฟความเร็วสูง และสายการบินต้นทุนต่ำ อาจมีผลต่อราคาและคุณภาพ

นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงการประชุมร่วมกับผู้บริหารบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ถึงประเด็นที่ บขส.เสนอผลศึกษาการใช้ประโยชน์สถานีขนส่งหมอชิต 2 มีแนวทางย้ายหรือขยายสถานีให้เพียงพอต่อการรองรับผู้โดยสารในอนาคต โดยระบุว่า ตนเองได้ให้ บขส.ไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม

นายสุพจน์ กล่าวว่า เนื่องจากแผนที่ บขส.เสนอมาให้ย้ายสถานีไปยังสถานที่ใหม่ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้โดยสารยังไม่ครอบคลุมถึงแนวทางที่ควรมีการศึกษาว่าหากมีการขยายสถานีหมอชิตด้วยการเช่าที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ และเมื่อรวมกับพื้นที่จอดรถสถานีขนส่งขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) แล้วจะทำให้พื้นที่ดังกล่าวสามารถใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้นได้อย่างไร และหากต้องการขยายพื้นที่เพิ่มเป็น 100 ไร่ จะต้องจัดหาพื้นที่บริเวณใกล้เคียงอย่างไรบ้าง

ทั้งนี้ การใช้พื้นที่เดิมเป็นสถานีขนส่งและขยายพื้นที่นั้น จะมีข้อดีที่สถานีขนส่งหมอชิต 2 ใกล้สถานีรถไฟบางซื่อ ในอนาคตจะเป็นชุมทางและปลายทางสำคัญของ ร.ฟ.ท.แทนสถานีรถไฟหัวลำโพง รวมถึงเป็นเส้นทางปลายทางของรถไฟความเร็วสูงที่อยู่ในแผนการพัฒนาด้วย ซึ่งการมีพื้นที่สถานีขนส่ง บขส.และ ขสมก.ใกล้กับชุมทางรถไฟขนาดใหญ่น่าจะเกิดประโยชน์ต่อการสัญจรโดยสารของประชาชน

ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวอีกว่า ยังขอให้ บขส.ศึกษาปริมาณผู้โดยสารที่ขณะนี้มีเฉลี่ยช่วงเทศกาลสำคัญกว่า 100,000 คน ในอนาคตจะเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ย 200,000 คนต่อวัน หากมีรถไฟความเร็วสูง รวมทั้งการแข่งขันของสายการบินต้นทุนต่ำรุนแรงมากขึ้นในเรื่องราคาจะส่งผลต่ออัตราการขยายตัวของผู้โดยสารของ บขส.มากน้อยเพียงใด ซึ่งทั้งหมดให้ฝ่ายบริหารของ บขส.ไปศึกษาเพิ่มเติม และเสนอให้กระทรวงคมนาคมรับทราบอีกครั้ง ก่อนจะนำเสนอรัฐบาลใหม่พิจารณารายละเอียดต่อไป อย่างไรก็ตาม หากแผนขยายพื้นที่ของสถานีขนส่งมีเรื่องการลงทุนเพิ่มเติมก็จะต้องนำเสนอตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายที่ต้องผ่านความเห็นชอบของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น