xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนตำหนิรัฐแทรกแซงไตรภาคีขึ้นค่าจ้าง ห่วงสินค้า-เงินเฟ้อขยับไปรอล่วงหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ส.อ.ท.ติงรัฐไม่ควรแทรกแซงคณะกรรมการไตรภาคีในการขึ้นค่าแรง แนะให้พิจารณาอย่างรอบคอบ เตือนบทเรียนครั้งก่อน กว่าลูกจ้างจะได้ค่าแรง ราคาสินค้าและเงินเฟ้อ ได้ปรับขึ้นไปรออยู่ก่อนแล้ว ชี้ การประกาศแบบนี้ ยิ่งทำให้ของแพงและเงินเฟ้อยิ่งขึ้นถือเป็นการดูแลปากท้องประชาชนที่ไม่ถูกต้อง นายกค้าปลีก ชี้ ต้นเหตุสินค้าแพง เพราะรัฐชอบแทรกแซงกลไกตลาด แถมอ่อนหัดแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการค่าจ้างกลางมอบหมายให้อนุกรรมการค่าจ้างแต่ละจังหวัดกลับไปทบทวนตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด ว่า สมควรปรับขึ้นหรือไม่ โดยเบื้องต้นเห็นว่าต้องปรับขึ้นในหลายจังหวัดนั้น ส.อ.ท.เห็นว่า เรื่องดังกล่าว เป็นการแทรกแซงการทำงานของคณะกรรมการไตรภาคี ที่พิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างให้สอดคล้องกับต้นทุนและสภาพเศรษฐกิจอยู่แล้ว

ทั้งนี้ ภาครัฐควรหันกลับมาทบทวนเรื่องการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานในปัจจุบันว่าผิดทิศทางไปแล้วหรือไม่ ดังจะเห็นตัวอย่างได้จากการปรับขึ้นค่าจ้างล่าสุด กว่าแรงงานจะได้รับค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น ปรากฏว่า ราคาสินค้าและเงินเฟ้อปรับขึ้นไปรออยู่ก่อนแล้ว กลายเป็นว่า การขึ้นค่าแรงยิ่งทำให้เงินเฟ้อ เฟ้อยิ่งขึ้น ข้าวของแพงยิ่งขึ้น จนเกิดผลกระทบในวงกว้างสู่ประชาชนทั่วประเทศ

นายพยุงศักดิ์ กล่าวว่า ภาครัฐไม่ควรเร่งรัดการพิจารณาปรับค่าจ้าง จนส่งผลกระทบย้อนกลับมาสู่ประชาชน และยิ่งในช่วงมีการเลือกตั้งควรพิจารณาให้รอบคอบ เพราะยิ่งขึ้นค่าจ้าง ราคาสินค้าต่างๆ ก็ยิ่งแพงขึ้น นับเป็นกลไกดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานที่ไม่ถูกต้อง กลไกที่ถูกต้องควรเป็นตามกลไกพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างของคณะกรรมการไตรภาคี ที่ประกอบด้วย ตัวแทนลูกจ้าง ภาครัฐและตัวแทนแรงงานร่วมกันพิจารณา

นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาค้าค้าปลีกค้าส่งไทย กล่าวว่า แม้ราคาน้ำมันจะชะลอตัวลงมาในช่วงที่ผ่านมา แต่ราคาสินค้าในปัจจุบันยังคงปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ต้องพิจารณาแยกเป็นรายสินค้า โดยสินค้าอุตสาหกรรมจะถูกกระทบจากราคาน้ำมันโดยตรง ขณะที่สินค้าเกษตรกรรมจะเชื่อมโยงกับสภาพอากาศ โดยที่มีปัจจัยที่กระทบต่อราคาสินค้าหลายประเภท อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้ายังถูกซ้ำเติมจากการบริหารจัดการของรัฐ ที่เข้าไปแทรกแซงกลไกตลาด

นายสมชาย กล่าวแนะนำว่า รัฐบาลนั้นควรแก้ปัญหาราคาสินค้าแพงที่ต้นเหตุ ไม่ใช้ที่ปลายเหตุ เช่นการไปปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพราะว่าจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการและผู้บริโภค จะได้รับผลกระทบนี้ด้วยเช่นกัน

นายธีรพล แซ่ตั้ง ผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาองค์กรธุรกิจ กล่าวว่า ภายใต้ภาวะสินค้าแพง ผู้บริโภคจะมีทางเลือกมากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากผู้ประกอบการจะจัดโปรโมชั่นสินค้า แต่ผู้บริโภคต้องพิจารณาลักษณะของสินค้าด้วย ทั้งขนาดและราคาสินค้าที่นำมาจัดโปรโมชั่น รวมทั้งควรซื้อเฉพาะสินค้าที่มีความจำเป็นเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น