“พรทิวา” โชว์ทวงหนี้ข้าวพันล้านจากรัสเซียสำเร็จ หลังค้างนานกว่า 20 ปี คาดได้เงินคืนไม่เกิน 12 ก.ค.นี้ ระบุขอคืนแค่เงินต้นไม่คิดดอกเบี้ย แลกการจ่ายค่าธรรมเนียมโอน พร้อมสั่งบูมส่งออกตลาดรัสเซีย ตั้งเป้าปี 54 โตได้กว่า 50% มูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ไทยได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงการรับเงินชำระหนี้ค่าข้าวจำนวน 36.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,093 ล้านบาท จากรัสเซียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยทางรัสเซียจะโอนเงินจำนวนดังกล่าวให้ไทยภายใน 30 วันทำการ หรือประมาณวันที่ 12 กรกฎาคม 2554 นี้ ถือเป็นความสำเร็จของกระทรวงฯ ในการติดตามคืนหนี้ค่าข้าวที่รัสเซียค้างชำระให้กับไทยมากว่า 20 ปี หรือตั้งแต่ปี 2533
โดยการชำระหนี้ก้อนดังกล่าว รัสเซียได้แจ้งว่ามีค่าธรรมเนียมในการโอนเงินประมาณ 5% ของยอดหนี้ หรือ 1.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประมาณ 54.66 ล้านบาท ซึ่งได้มีการเจรจากับทางรัสเซียว่าไทยได้มีการปรับลดภาระหนี้ให้กับทางรัสเซียแล้วโดยไม่มีการคิดดอกเบี้ย ขอชำระคืนแค่เงินต้น ดังนั้น ค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้น รัสเซียก็ไม่ควรจะมาคิดกับไทยอีก ซึ่งทางรัสเซียได้ตอบรับและจะรับภาระค่าธรรมเนียมการโอนเงินที่เกิดขึ้นไว้เอง
นอกจากนี้ ไทยมีแผนจะเจาะตลาดรัสเซียอย่างเต็มที่ ในฐานะเป็นตลาดใหม่สำหรับการส่งออกของไทย โดยปี 2554 นี้ ตั้งเป้าว่าจะผลักดันการส่งออกไปยังรัสเซียให้ขยายตัวสูงถึง 50% มูลค่า 1,050 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมีมูลค่าเพิ่มจากปีที่แล้วที่ทำได้ประมาณ 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะผ่านมาแค่ 4 เดือน ไทยสามารถส่งออกไปตลาดรัสเซียได้แล้วประมาณ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สำหรับสินค้าไทยที่มีโอกาสในการส่งออก ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ เพราะผลกระทบจากโลกร้อน ทำให้รัสเซียมีฤดูร้อนที่ยาวนานขึ้น และอากาศร้อนมากขึ้น ทำให้เครื่องปรับอากาศขายดีมาก แต่ก็มีคู่แข่ง คือ มาเลเซีย และอินเดีย ยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นสินค้าอีกรายการหนึ่ง ที่ไทยมีโอกาสตามการขยายตัวของเศรษฐกิจรัสเซีย นอกจากนี้ก็มีสินค้าอาหาร เช่น ข้าว ไก่ อาหารสำเร็จรูป เป็นต้น
ทั้งนี้ รมว.พาณิชย์ได้ขอให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าต่างประเทศที่ประจำอยู่รัสเซีย ปรับแผนการทำตลาดให้เข้มข้นมากขึ้น เพราะเป็นตลาดใหม่ที่กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญ โดยหากรัสเซียมีการจัดงานแสดงสินค้า ก็ให้นำสินค้าไทยเข้าไปจัดแสดง เพื่อเป็นการแนะนำสินค้าไทยให้ผู้นำเข้ารู้จัก รวมทั้งให้เพิ่มความเข้มข้นในการจัดคณะผู้แทนการค้าให้มีการพบปะกันมากขึ้น