“พาณิชย์” เคาะเกณฑ์ผู้มีอำนาจเหนือตลาดใหม่ ลดยอดขายต่อปีเหลือแค่ 500 ล้านบาท จากเดิม 1,000 ล้านบาท หวังใช้ควบคุมดูแลธุรกิจผูกขาดได้ง่ายขึ้น หลังพบธุรกิจขนาดใหญ่ครบวงจร เลี่ยงตั้งบริษัทย่อยทั้งแนวราบและแนวดิ่ง เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ เล้งเพิ่มคำจำกัดความเพื่อครอบคลุมการตรวจสอบไปถึงบริษัทในเครือ
นายอนุรุทธิ์ โค้วคาสัย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องการกำหนดเกณฑ์ผู้มีอำนาจเหนือตลาด เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ได้มีมติให้กำหนดเกณฑ์ผู้มีอำนาจเหนือตลาด เป็นเกณฑ์เดียวที่ใช้กับทุกธุรกิจ โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการธุรกิจที่อยู่ในเกณฑ์มียอดเงินขายตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป จากเดิมตั้งแต่ 1,000 ล้านบาท
โดยขณะนี้ ร่างเกณฑ์ดังกล่าว อยู่ระหว่างการนำเสนอต่อ นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อนำเรื่องเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าพิจารณา และจากนั้นจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป
การกำหนดเกณฑ์ผู้มีอำนาจเหนือตลาดดังกล่าว กำหนดเป็น 3 ระดับ คือ ระดับที่ 1 มีส่วนแบ่งการตลาด ตั้งแต่ 50% ขึ้นไป ระดับที่ 2 มีส่วนแบ่งการตลาด ตั้งแต่ 30% ขึ้นไป และระดับที่ 3 มีส่วนแบ่งตลาด 3 รายรวมกัน ตั้งแต่ 75% ขึ้นไป ซึ่งในระดับที่ 2 และ 3 จะต้องมีการพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย ได้แก่ ความสามารถในการควบคุมตลาด อุปสรรคการเข้าสู่ตลาด ศักยภาพของคู่แข่ง การจำกัดการแข่งขัน และอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม ได้กำหนดเกณฑ์ยกเว้นสำหรับผู้ประกอบธุรกิจรายใดรายหนึ่ง ที่มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมาต่ำกว่า 10% หรือ ยอดเงินขายต่ำกว่า 500 ล้านบาท
“การจัดทำเกณฑ์ผู้มีอำนาจเหนือตลาดใหม่นี้ ได้มีการพิจารณาเทียบเคียงกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทั้งในสหรัฐฯ ยุโรป เอเชีย และกลุ่มอาเซียน โดยปรับให้ทันสมัยและเหมาะสมกับการทำธุรกิจของไทย”
นายอนุรุทธิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจในประเทศไทย มีรายใหญ่อยู่จำนวนมาก ได้มีการขยายกิจการออกไป ทั้งแนวนอนและแนวดิ่ง เช่น การทำธุรกิจครบวงจร การตั้งบริษัทในเครือ เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมากฎหมายไทยมีช่องว่างการตีความให้ผู้ประกอบรายเดียว คือ 1 นิติบุคคล ทำให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าไม่สามารถที่จะเอาผิดได้ เพราะเมื่อพิจารณาในส่วนของยอดขาย (Market Share) ก็จะไม่เข้าเกณฑ์
ดังนั้น การปรับหลักเกณฑ์การพิจารณาอำนาจเหนือตลาดตามมาตรา 25 พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 จะช่วยลดช่องว่างทางข้อกฎหมาย ทำให้ตลาดในไทยมีการแข่งขันที่เป็นธรรมมากยิ่งขึ้น ผู้ประกอบธุรกิจไทยขนาดกลางและเล็ก (SMEs) จะสามารถแข่งขันและเติบโตในตลาดได้และที่สำคัญ คือ การนำมาซึ่งความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภคในประเทศ
ทั้งนี้ หากเกณฑ์ดังกล่าวได้รับการเห็นชอบ จะทำให้กลุ่มธุรกิจบางประเภทเข้าข่ายเฝ้าระวังเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด เช่น น้ำมันดีเซล เบียร์ ปุ๋ยเคมี แผ่นเหล็กเคลือบดีบุก นมถั่วเหลือง ปลากระป๋องในซอส เม็ดพลาสติก PE ยางรถยนต์ เยื่อกระดาษ
นอกจากนี้ ยังจะเสนอให้เพิ่มเติมคำจำกัดความ “ผู้ประกอบธุรกิจ” และ “ผู้มีอำนาจเหนือตลาด” ให้ครอบคลุมไปถึงบริษัทในเครือตามหลักสากล เพื่อให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมในตลาด