ลดราคาปาล์มขวดเหลือ 42 บาท ส่อเค้าเหลว "พรทิวา" หงอไม่กล้านำเข้าบอร์ดปาล์มแห่งชาติ บอกไม่ต้องการล้ำเส้นใคร แค่ต้องการทำงานในกรอบ ด้านบอร์ดน้ำตาลมีมติลดกันสำรองน้ำตาลเหลือ 1 ล้านกระสอบ หลังสถานการณ์ขาดแคลนเริ่มเป็นปกติ เตรียมโยกน้ำตาลที่เหลือ 2 ล้านกระสอบส่งออก เผยทุกร้านค้ามีวางขาย การลักลอบส่งออกน้อยลง
นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงความคืบหน้าในการเสนอปรับลดเพดานราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวดจากราคา 47 บาทต่อขวดลิตร เหลือราคา 42 บาทต่อขวดลิตร โดยระบุว่า แม้เรื่องนี้จะเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการพิจารณาราคาน้ำมันพืชเพื่อบริโภค ที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ดูแลอยู่ก็ตาม แต่โดยหลักการในการปรับลดราคา จะต้องมีการแก้ไขหรือยกเลิกมติที่คณะกรรมการนโยบายปาล์มแห่งชาติเป็นผู้กำหนดใว้และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ได้เห็นชอบ ให้คงราคาเพดานน้ำมันปาล์มไว้ที่ 47 บาทต่อขวดเป็นระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งจะสิ้นสุดในสิ้นเดือนมิถุนายน 2554 นี้
อย่างไรก็ตาม หากยังไม่มีการยกเลิกมติดังกล่าว กระทรวงพาณิชย์คงไม่สามารถที่จะเสนอ ขอปรับลดราคาลงได้ จึงได้มอบหมายให้กรมการค้าภายใน สรุปสถานการณ์ราคาผลปาล์ม และน้ำมันปาล์มที่จำหน่ายในท้องตลาด ให้คณะกรรมการนโยบายปาล์มแห่งชาติเรียกประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ พร้อมยอมรับว่า ขณะนี้ กระทรวงพาณิชย์ ไม่สามารถปฎิบิติฝ่าฝืนนโยบายได้ เพราะการพิจารณาให้ปรับลดราคาน้ำมันปาล์มลง ต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายปาล์มแห่งชาติก่อน
"คณะกรรมการฯ ชุดนี้ กระทรวงพาณิชย์ มีหน้าที่เป็นเพียงผู้ช่วยเลขาของคณะกรรมการฯ เท่านั้น เราปฎิบัติหน้าที่อยู่ในกรอบ ไม่ล้ำเส้นใคร จึงให้กรมการค้าภายในทำหนังสือไป เพื่อเรียกประชุมตามกำหนดที่ระบุไว้ทุก 15 วัน "
ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่า ท่าทีของนางพรทิวาเกี่ยวกับเรื่องนี้เปลี่ยนไป จากที่ 1-2 วันก่อน เคยกล่าวว่าจะส่งเอกสารให้ คณะกรรมการนโยบายปาล์มแห่งชาติ ปรับลดราคาน้ำมันปาล์มขวดลง 5 บาท แต่กลับเปลี่ยนท่าทีโดยอ้างว่า กระทรวงพาณิชย์ทำอะไรไม่ได้ ต้องรอรัฐบาลตัดสินใจ หลังจากก่อนหน้านี้ แนวทางที่จะให้ปรับลดเพดานราคาน้ำมันปาล์มขวด ถูกท้วงติงมากจากสมาคมโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม
ด้านนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการน้ำตาลทราย (กน.) วันที่ 24 พฤษภาคม 2554 ซึ่งมีนายมนัส สร้อยพลอย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นประธาน ได้มีมติให้ลดปริมาณกันสำรองน้ำตาลทรายจาก 3 ล้านกระสอบลงมาเหลือ 1 ล้านกระสอบ โดยส่วนที่เหลือ 2 ล้านกระสอบ ให้สามารถส่งออกได้ ซึ่งจะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) รับทราบต่อ
ทั้งนี้ การลดปริมาณสำรองดังกล่าว เพราะเห็นว่ามีน้ำตาลค้างกระดานเหลืออยู่ 15 ล้านกระสอบ โดยเหลือยอดน้ำตาลโควตา ก. (บริโภคในประเทศ) ที่รอการขึ้นงวดอีก 13 ล้านกระสอบ จากที่ขึ้นงวดแล้ว 11.8 ล้านกระสอบ ขายออกไปแล้ว 9.98 ล้านกระสอบ เหลือค้างกระดาน 1.8 ล้านกระสอบ ถือว่าค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีน้ำตาลเหลือ 1.1 ล้านกระสอบ ขณะที่ปี 2554 มีการกำหนดโควตา ก.ไว้ที่ 25 ล้านกระสอบ และการสำรองไว้เพียง 1 ล้านกระสอบ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่า จะมีน้ำตาลเพียงพอต่อการบริโภคอย่างแน่นอน
"สถานการณ์น้ำตาลตอนนี้ เริ่มเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว โดยในโมเดิร์นเทรดก็มีขายทุกแห่ง ราคาขายเฉลี่ยในประเทศก็เพิ่มสูงขึ้นมาก ภาพรวมจึงไม่จำเป็นต้องกันสำรองไว้มากถึง 3 ล้านกระสอบ และการกันไว้แค่ 1 ล้านกระสอบ เพื่อสร้างความมั่นใจว่า ปีนี้น้ำตาลจะไม่ขาดแคลนอย่างแน่นอน"
ส่วนปัญหาการลักลอบส่งออกน้ำตาลก็มีน้อยลง เพราะราคาน้ำตาลในตลาดโลกขยับลงเล็กน้อย มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 650 ดอลลาร์ต่อตัน จากเดิมที่มีราคาเฉลี่ยสูงถึง 700-800 ดอลลาร์ต่อตัน โดยสถานการณ์การผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ณ วันที่ 24 พฤษภาคม 2554 มีปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด 95 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลทรายได้ 96 ล้านกระสอบ