หอการค้าฯ เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน เม.ย. ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ผู้บริโภควิตกปัญหาค่าครองชีพ และราคาสินค้าที่พุ่งสูง สวนทางรายได้ที่ยังคงเดิม ภาคเอกชน เตรียมขอ รบ.ใหม่ เร่งยกระดับรายได้ เกษตรกร-ผู้ใช้แรงงาน ห่วงกำลังซื้อหดตัว
นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึง ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ประจำเดือนเมษายน 2554 โดยระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นมีการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 อยู่ที่ระดับ 79.6 เป็นผลมาจากปัจจัยในเรื่องของความวิตกกังวล เกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้า ที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง สถานการณ์ทางการเมืองหลังการยุบสภาและปัญหาภัยพิบัติต่างๆ รวมไปถึงราคาน้ำมันจำหน่ายปลีกที่ปรับราคาสูงขึ้น
นอกจากนี้ ยังพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นได้ปรับตัวลดลงทุกรายการ ประกอบด้วย ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ปรับตัวลดลงอยู่ที่ 70.5 โอกาสที่หางานทำอยู่ที่ระดับ 70.1และรายได้ในอนาคต ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 97.2
ด้านนายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลใหม่ ยกระดับรายได้ของประชาชนในประเทศ แยกเป็น 2 กลุ่ม คือ ภาคเกษตรกรกับผู้ใช้แรงงาน โดยเกษตรกรจะต้องได้รับการกระจายรายได้ที่มากขึ้น ภาคแรงงานจะต้องมีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามทักษะ และการพัฒนาความสามารถ โดยให้เป็นไปตามกลไกตลาด เพื่อให้ภาคเอกชนปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงได้ และหากมีการปรับในทันที จะส่งผลกระทบต่อต้นทุน อาจทำให้เกิดภาวะการชะลอตัวทางด้านการผลิต การลงทุนต่างประเทศ ทำให้การส่งออกได้รับผลกระทบ
อย่างไรก็ตาม ทางหอการค้าไทย ต้องการให้ภาครัฐมีแนวทางในการลดต้นทุนโลจิสติกส์ให้กับภาคเอกชน เพราะต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศไทย อยู่ในระดับที่สูงมาก