“ค้าภายใน” ส่งทีมเช็กข้อมูลการปรับค่าธรรมเนียมชั้นวางสินค้าห้างใหญ่ หวั่นอำนาจผูกขาดตลาด-กำหนดต้นทุนเอง อาจส่งผลต่อการผลักภาระให้ผู้บริโภค “ผู้ประกอบการข้าวถุง” โวยขอปรับขึ้นราคา อ้างถูกห้างยักษ์เอาเปรียบสารพัด ทั้งออกกฎเหล็กมัดมือชก ขึ้นค่าธรรมเนียมแบบไม่มีเหตุผล ทำให้ต้นทุนเพิ่ม
นางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ตนเองได้รับเรื่องร้องเรียนจากสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทยกรณีที่ห้างสรรพสินค้ารายใหญ่เตรียมปรับค่าธรรมเนียมแรกเข้า หรือค่าธรรมเนียมอื่นๆ เพิ่มขึ้นอย่างไม่มีเหตุผล สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ผลิต และผู้บริโภคทางอ้อม ในเรื่องนี้ได้ให้ทางเจ้าหน้าที่ไปเก็บข้อมูลและตรวจเช็กในรายละเอียดแล้ว เพื่อนำมาประกอบการพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การคิดค่าธรรมเนียมต่างๆ ของห้างสรรพสินค้าให้เป็นในทิศทางเดียวกันทั้งหมด
นางวัชรี กล่าวว่า หากห้างสรรพสินค้าไม่ชัดเจนและไม่มีมาตรการเดียวกัน นอกจากจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตแล้วยังจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกพืชผลทางการเกษตรทั้งระบบ รวมถึงผู้บริโภคอีกด้วย พร้อมยอมรับว่าที่ผ่านมา กรมการค้าภายในได้รับการร้องเรียนจากผู้ผลิตสินค้าทั้งรายเล็กและรายใหญ่ในการคิดค่าธรรมเนียมต่างๆ ของห้างสรรพสินค้าไม่เป็นธรรม ถูกเอาเปรียบทั้งทางตรงและทางอ้อม จนบางรายการสินค้าจำเป็นต้องปรับขึ้น สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้บริโภค โดยจะนำข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้มาพิจารณาเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การคิดค่าธรรมเนียมให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับระบบการค้า รวมถึงเป็นการสร้างความดูแลให้กับผู้บริโภค
อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวอีกว่า กรมการค้าภายในยังไม่อนุมัติให้สินค้ารายการใดปรับขึ้นราคาในขณะนี้ แม้จะมีกระแสข่าวว่า มีสินค้าหลายรายการเตรียมขอปรับขึ้นราคาก็ตาม โดยเฉพาะที่มีข่าวว่าผู้ผลิตข้าวถุงเตรียมปรับราคาข้าวถุงขึ้นอีก เพราะไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนด้านวัตถุดิบที่อาจจะเพิ่มขึ้นจากปัจจัยการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง หรือต้นทุนจากการคิดค่าธรรมเนียมของห้างสรรพสินค้า ซึ่งกรมการค้าภายในจะมีการติดตามปัญหานี้อย่างใกล้ชิด และมองว่าไม่ใช่เหตุผลหลักที่จะขอปรับราคาข้าวถุงขึ้น แต่น่าจะมาจากปัจจัยทางด้านการแข่งขันของผู้ผลิตข้าวถุงมากกว่า เพราะขณะนี้โรงสีข้าวส่วนใหญ่หันมาผลิตและบรรจุข้าวถุงในยี่ห้อต่างๆ เป็นจำนวนมาก ผ่านผู้ประกอบการข้าวถุงน้อยลง ดังนั้น เมื่อระบบการแข่งขันสูงก็ไม่มีเหตุผลที่ราคาข้าวถุงจะปรับขึ้นแต่อย่างใด
“ยอมรับว่า เหตุผลที่ทำให้สินค้าอุปโภคและบริโภคมีแนวโน้นสูงขึ้นน่าจะมาจากสภาพการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะภาวะโลกร้อนที่ทำให้สินค้าภาคการเกษตรทั้งโลกมีปัญหารวมถึงประเทศไทยด้วย แต่ไทยถือว่ายังได้รับผลกระทบปัญหาดังกล่าวไม่มาก ยังมีสินค้าภาคการเกษตรออกสู่ตลาดต่อเนื่องไม่ขาดแคลนและมีเพียงพอต่อการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศ ดังนั้น แม้ว่าผลกระทบภาวะโลกร้อนจะกระทบต่อต้นทุนสินค้าของไทยอยู่บ้าง ประกอบกับด้านการแข่งขันของผลิตสินค้ามีสูง โดยรวมไม่น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำมาอ้างขอขึ้นราคาสินค้าที่จะสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้บริโภคทั้งประเทศได้ต่อไป”
สำหรับความคืบหน้าการจัดงานมหกรรมธงฟ้าลดค่าครองชีพให้กับประชาชนทั้งประเทศในช่วง 3 เดือนตามกรอบงบประมาณ 169 ล้านบาทนั้น อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ขณะนี้แผนการจัดงานมหกรรมธงฟ้าอยู่ระหว่างการพิจารณาของ นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แต่ยังติดปัญหาด้านเทคนิคเล็กน้อย โดยเฉพาะกรอบการจัดงานตามแผนเดิมจะจัดงานแบบปูพรมทั้งประเทศในช่วง 3 เดือน จำนวน 500-600 ครั้ง ทั้งงานเล็กและงานใหญ่ แต่ผู้ผลิตสินค้าที่จะเข้าร่วมโครงการมหกรรมธงฟ้าอาจประสบปัญหาในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นกำลังคนและด้านการขนส่งสินค้า ดังนั้น อาจจะปรับแผนการจัดงานแบบปูพรมมาเป็นลักษณะรายภาคของแต่ละจังหวัดแทน และคงต้องรอความชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง
ส่วนการนำโครงการรถเข็นธงฟ้ากลับมาช่วยเหลือผู้บริโภคนั้น กรมการค้าภายในกำลังดูพื้นที่รอบกรุงเทพมหานครและจังหวัดใหญ่ๆ ที่เป็นแหล่งชุมชน เช่น ท่าน้ำนนท์ ท่าเรือคลองเตย หรือพื้นที่ชุมชนที่มีประชาชนเดินทางไปและกลับจำนวนมากในแต่ละวัน เพื่อให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการรถเข็นธงฟ้าสามารถมีพื้นที่จำหน่ายอาหารสำเร็จรูปในราคาถูก เช่น ข้าวไข่เจียวจานละ 19 บาท ข้าวราดแกงจานละ 20-25 บาทได้ ซึ่งขณะนี้รถเข็นและอุปกรณ์ยังมีอยู่กว่า 50 คัน ที่จะให้ผู้ที่สนใจสามารถซื้อเพื่อเป็นเจ้าของในราคาถูก และจะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบห้างสรรพสินค้าที่ได้รับปากกับทางกรมการค้าภายในที่จะให้บริการภายในศูนย์อาหาร 1 เมนู 25 บาท ซึ่งได้รับการร้องเรียนจากประชาชนบางห้างไม่มีจุดให้บริการอาหาร 1 เมนู จานละ 25 บาทแต่อย่างใด
ด้าน นายสมเกียรติ มรรคยาธร นายกสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ผลิตข้าวถุงยังไม่มีการขอปรับขึ้นราคาแต่อย่างใด แต่ในช่วงครึ่งปีหลังโดยเฉพาะไตรมาส 3 อาจจะได้รับผลกระทบจากราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นจากปัจจัยการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าอาจจะมีการพิจารณาขยับราคาได้ คงต้องดูต้นทุนทางด้านวัตถุดิบอีกครั้ง จึงตัดสินใจขยับราคาข้าวได้
ทั้งนี้ ในช่วง 4 เดือนแรก (มกราคม-เมษายน) ปีนี้ ไทยส่งออกข้าวไปแล้วกว่าประมาณ 40% ประกอบกับข้าวฤดูกาลใหม่ยังไม่ออก รวมทั้งภาระค่าธรรมเนียมต่างๆ ในการนำสินค้าเข้าวางจำหน่ายผ่านค้าปลีกที่มีแนวโน้มขอปรับเพิ่มขึ้น โดยล่าสุดห้างค้าปลีกเกือบทุกแห่งเจรจาขอเพิ่มค่าธรรมเนียมแรกเข้าจากประมาณ 5-10% ต่อปี เป็นประมาณ 10-15% ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตปรับสูงขึ้น อย่างไรก็ตามการขอปรับขึ้นราคาจะต้องดูปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งหากปัจจัยต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการยังสามารถรับได้ ก็จะไม่มีการยื่นขอปรับราคาอย่างแน่นอน
“อยากให้กรมการค้าภายในช่วยเจรจากับผู้ประกอบการเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์การคิดคำนวณอัตราจัดเก็บค่าธรรมเนียมใหม่ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยในช่วง 3-4 เดือนแรกปีนี้ปริมาณการจำหน่ายข้าวถุงเพิ่มขึ้นประมาณ 4-5% แต่ในแง่ของมูลค่ากลับเพิ่มขึ้นเพียงประมาณ 2-3% เท่านั้น เพราะตลาดข้าวถุงมีการแข่งขันสูง” นายสมเกียรติ กล่าวสรุป