xs
xsm
sm
md
lg

ทีดีอาร์ไอเผยผลศึกษาปัญหาทุจริต-คอร์รัปชันในไทย แนวโน้มยังเหมือนเดิม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทีดีอาร์ไอ เผย ผลศึกษาปัญหาทุจริต-คอร์รัปชันในไทย แนวโน้มยังไม่เปลี่ยนแปลง ทั้งการโอนเงินเข้าบัญชีส่วนตัว และการแต่งบัญชี แนะเพิ่มโทษรุนแรง โดยปรับเป็นจำนวนเท่าของความเสียหาย พร้อมเสนอเพิ่มอำนาจ ก.ล.ต.ทำสำนวนส่งฟ้องกับอัยการได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านตำรวจ หวันทำสำนวนอ่อน พร้อมให้ดำเนินคดีทั้งแพ่งและอาญา

นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงผลการศึกษาปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นในวงการธุรกิจเอกชนไทยกับแนวทางแก้ไขและป้องกัน พบว่าแนวโน้มการทุจริตในภาคเอกชนไทยยังไม่เปลี่ยนแปลง โดยยังคงรูปแบบเดิม โดยเฉพาะการถ่ายโอนเงินจากบริษัทแม่ที่เป็นบริษัทจดทะเบียน (บจ.) เข้าไปยังบริษัทจำกัดที่เป็นบริษัทส่วนตัวของผู้บริหาร รวมทั้งการตกแต่งบัญชีเพื่อสร้างรายได้เทียม เพื่อให้ดูว่าบริษัทมีผลประกอบการดี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการปั่นหุ้น ส่งผลเสียหายให้กับนักลงทุนรายย่อย ซึ่งเปรียบเป็นแมลงเม่า แม้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะตรวจพบ และให้แก้ไขข้อมูล แต่ความเสียหายกับผู้ลงทุนเกิดขึ้นไปแล้ว รวมทั้งการใช้ข้อมูลภายในมาเป็นประโยชน์ในการซื้อขายหุ้น หรือ อินไซเดอร์ เทรดดิ้ง

ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะการแก้ไขปัญหา คือ การเพิ่มโทษให้รุนแรงมากขึ้น จากปัจจุบันบทลงโทษมีโทษปรับเพียง 500,000-1,000,000 บาท เท่านั้น ทั้งที่ความผิดจากกรณีที่ศึกษามีมูลค่าสูงถึง 3,000 ล้านบาท แตกต่างจากบทลงโทษในต่างประเทศที่จะปรับเป็นจำนวนเท่าของความเสียหาย

นอกจากนี้ เสนอให้รัฐบาลเพิ่มอำนาจของ ก.ล.ต.ในการทำสำนวนส่งฟ้องกับอัยการได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านตำรวจ เพราะที่ผ่านมาการทำสำนวนของตำรวจอาจไม่มีความเข้าใจในข้อมูลด้านธุรกิจเพียงพอ และทำให้สำนวนฟ้องอ่อนจนอัยการสั่งไม่ฟ้องในที่สุด พร้อมกันนี้ เสนอให้มีการปรับแนวทางการดำเนินคดี จากปัจจุบันที่ดำเนินคดีเฉพาะทางอาญาอย่างเดียว โดยให้มีการฟ้องคดีทางแพ่งไปพร้อมกันได้ เช่นเดียวกับในต่างประเทศ

นางเดือนเด่น กล่าวว่า รูปแบบการทุจริตในภาคเอกชนไทยมากที่สุด คือ การฝ่าฝืนกฎระเบียบ ในสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 73.23 รองลงมา คือ การปกปิดข้อเท็จจริง หรือสร้างข้อมูลเท็จร้อยละ 10.31 และการหลีกเลี่ยงภาษีอากรร้อยละ 7.63 นอกจากนี้ ยังพบว่าตั้งแต่ปี 2543-2551 ในปี 2543 มีคดีทุจริตมากที่สุด 117 คดี และลดลงมาต่ำสุดในปี 2546 มีเพียง 46 คดี
กำลังโหลดความคิดเห็น