xs
xsm
sm
md
lg

แนะไทยลดเสี่ยงพลังงาน หาแหล่งน้ำมันเสริม-เพิ่มสำรองอีก 30 วัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ไออีเอ” แนะไทยลดความเสี่ยงด้านพลังงาน หาแหล่งน้ำมันแห่งอื่นสำรองนอกเหนือจาก ตอ.กลาง หากเกิดเหตุฉุกเฉิน-ไม่คาดฝัน พร้อมแนะให้เพิ่มสำรองน้ำมันอีก 30 วัน จาก 60 วัน เป็น 90 วัน เพื่อความมั่นคง “วรรณรัตน์” คาด ใช้เม็ดเงินลงทุนเกือบแสนล้านบาท และเป็นโครงการในระยะยาว

นายแพทย์ วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมประเมินแผนรองรับสภาวะวิกฤตด้านพลังงานของประเทศไทย (EMERGENCY RESPONSE ASSESSMENT (ERA) for THAILAND โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูงจากทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ผู้บริหารจากกระทรวงพลังงาน หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบการด้านพลังงาน โดยระบุว่า กระทรวงพลังงานได้จัดทำการซ้อมแผนรองรับสภาวะวิกฤตด้านพลังงานของประเทศ เพื่อเป็นแนวทางรองรับสถานการณ์ด้านพลังงานในสภาวะวิกฤต

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่ประเทศไทย หากเกิดภาวะฉุกเฉินด้านพลังงานขาดแคลน โดยกระทรวงพลังงานได้รับความร่วมมือจาก IEA ในการส่งคณะผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานเข้ามาประเมิน และวิเคราะห์ความพร้อมในการทำแผนรองรับสภาวะวิกฤตด้านพลังงานของประเทศไทยในครั้งนี้

ภายหลังการประชุม IEA มีข้อเสนอให้ประเทศไทย รองรับวิกฤตพลังงาน ด้วยการให้ภาคเอกชนที่เป็นผู้นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากแหล่งน้ำมันในตะวันออกกลางถึง 70% ในปัจจุบัน โดยแนะนำว่าจะต้องมีการทำสัญญากับแหล่งน้ำมันในแห่งอื่นๆ เช่น ในแอฟริกาตะวันตก ซึ่งมีศักยภาพและความขัดแย้งทางการเมืองน้อยกว่า

“สำหรับการหารือ IEA แนะนำว่าไทยควรจัดหาน้ำมันจากแหล่งอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น แอฟริกาตะวันตก เพื่อเป็นทางเลือกลดความเสี่ยง เพราะปัจจุบันประเทศไทยพึ่งพิงน้ำมันจากตะวันออกกลางมีสัดส่วน 60-70% ดังนั้น หากเกิดปัญหามีความไม่สงบในตะวันออกกลาง และมีการปิดอ่าวจะทำให้ไทยขาดแคลนน้ำมัน”

ส่วนปริมาณสำรองพลังงานเพื่อความมั่นคง ไทยมีการสำรองน้ำมันดิบโดยภาคเอกชน 60 วัน ควรเพิ่มปริมาณการสำรองอีก 30 วันเป็น 90 วัน โดยปริมาณที่เพิ่มขึ้นอีก 30 วันนั้น ควรทำในรูปแบบ ของการสำรองจากภาครัฐ (Public Stock) เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจ และไม่เกิดความหวาดวิตก หากไม่สามารถนำเข้าน้ำมันได้ หากมีกรณีวิกฤตต่างๆ ในอนาคต

ส่วนกรณีการผลิตไฟฟ้านั้นทบวงพลังงานระหว่างประเทศ แนะนำว่าจะต้องมีการให้โรงไฟฟ้าแต่ละแห่งสำรองน้ำมันเตาหรือดีเซลที่จะใช้ผลิตไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 10 วัน เพื่อรองรับกรณีที่เชื้อเพลิงหลักของการผลิตไฟฟ้า เช่น ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในอ่าวไทย และในพม่า ไม่สามรถจ่ายได้

นายแพทย์ วรรณรัตน์ กล่าวว่า ข้อเสนอเรื่องการสร้าง Public Stock หรือคลังน้ำมันสาธารณะนั้นเป็นหลักการที่กระทรวงจะรับไว้พิจารณาแต่จะต้องใช้งบประมาณมากถึง 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยคิดจากฐานราคาน้ำมันดิบสูงกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ และปริมาณการใช้น้ำมันประมาณ 9 แสนลิตรต่อวัน ในการก่อสร้าง ทำให้ต้องมีการวางแผนและศึกษาในระยะยาว

นอกจากนี้ IEA ยังแนะนำให้โรงไฟฟ้าของประเทศไทยมีการสำรองน้ำมันเตา และดีเซล ในสัดส่วนประมาณ 10 วัน เพื่อรองรับกรณีการจัดส่งก๊าซธรรมชาติมีปัญหา รวมทั้งแผนระยะกลางและยาว แนะนำให้ไทยใช้เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่หลากหลายมากขึ้น จากปัจจุบันพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติในสัดส่วนร้อยละ 70 และยังแนะนำให้ไทยมีความร่วมมือด้านพลังงานในระดับอาเซียนมากขึ้นด้วย

ด้าน นายทรงภพ พลจันทร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า IEA ได้แสดงความชื่นชมแผนรองรับกรณีก๊าซธรรมชาติขาดแคลนในประเทศไทย ซึ่งในอนาคตสำรองก๊าซฯ ของประเทศจะลดลง หลังจากที่จะผลิตได้สูงสุดในปี 2559 ซึ่งจะมาจากแหล่งอ่าวไทย และพม่า ประมาณ 6,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และมาจากการนำเข้าแอลเอ็นจี 10 ล้านตัน หรือประมาณ 1,400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จึงแนะนำให้ไทย จัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพิ่มเติม เพื่อรองรับความต้องการดังกล่าว

“ปัจจุบันความสามารถในการผลิตก๊าซธรรมชาติของไทยในอ่าวไทยอยู่ที่ประมาณ 3,600-3,700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และนำเข้าจากพม่า 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะมีก๊าซ จากแหล่งปลาทองของบริษัท เชฟรอนประเทศไทย เข้าระบบอีก 330 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แหล่งบงกชใต้เข้าระบบต้นปี 2554 อีก 330 ล้านบูกบาศก์ฟุตต่อวัน และในปี 2555 จะมีก๊าซจากแหล่ง M9 ในพม่า เข้าระบบอีก 240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน”

ขณะที่ นายแอด แวน โบฮีเมน (Aad Van Bohemen) หัวหน้าส่วนนโยบายฉุกเฉิน IEA กล่าวว่า การที่รัฐบาลแทรกแซงราคาพลังงาน เช่น ก๊าซหุงต้ม (LPG) ทำให้เกิดการบิดเบือนกลไกตลาด ความต้องการก๊าซเพิ่มขึ้น ประเทศไทยต้องลงทุนเพื่อการนำเข้าสูงขึ้น ซึ่งเป็นความเสี่ยง ดังนั้นหากลดการนำเข้าและนำเงินส่วนนี้มาลงทุนคลังสำรองน้ำมันภาครัฐจะได้ประโยชน์มากกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น