xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” ส่งหมู-ไข่ ธงฟ้า ดัมป์ตลาด ลดค่าครองชีพคนไทยนาน 3 เดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“พาณิชย์” ส่งหมู-ไข่ไก่ ธงฟ้า ดัมป์ราคา ช่วยลดค่าครองชีพประชาชนนาน 3 เดือน เนื้อหมูกิโลละ 110-120 บาท ไข่ไก่วันละ 1 ล้านฟอง ถูกกว่าท้องตลาดฟองละ 20-30 สตางค์ พร้อมขอให้ชะลอส่งออกยาวถึงเดือน ต.ค.นี้ ขึ้นบัญชีจับตาปลาป่น วัตถุดิบสำคัญทำอาหารสัตว์ หลังราคาพุ่งทำต้นทุนการเลี้ยงพุ่งตาม

นางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยภายหลังการหารือกับผู้เลี้ยงสุกรรายใหญ่ และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เพื่อแก้ปัญหาเนื้อหมูแพง วานนี้ (19 เม.ย.) ว่า ผู้เลี้ยงหมูได้ให้ความร่วมมือจัดโครงการเนื้อหมูธงฟ้าขายราคาประหยัด กก.ละ 110-120 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งถูกกว่าราคาท้องตลาดที่ กก.ละ 135-140 บาท และเริ่มขายได้ทั่วประเทศภายในสัปดาห์หน้า โดยเขตกรุงเทพฯ ขายที่กระทรวงพาณิชย์ จ.นนทบุรี และตามตลาดสดที่เข้าร่วมโครงการ เช่น ยิ่งเจริญ มีนบุรี อ่อนนุช ส่วนต่างจังหวัดขายตามค้าภายในจังหวัด โดยผู้บริโภคสามารถสอบถามจุดขายหมูธงฟ้าได้ที่โทร 1569

ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตยังได้ให้ความร่วมมือตรึงราคาเนื้อหมูหน้าฟาร์มราคาไม่เกิน กก.ละ 59-60 บาท ออกไปอีก 3 เดือน จนถึงเดือน ก.ค.ซึ่งจะทำให้ราคาขายปลีกทรงตัวระดับไม่เกินกก.ละ 135-140 บาทต่อไป เนื่องจากต้องรอเนื้อหมูรุ่นใหม่เติบโตมาทดแทน

สาเหตุที่ราคาหมูแพงในขณะนี้ เกิดจากภาวะอากาศแปรปรวน ทำให้หมูเจริญเติบโตช้า และเกิดโรคระบาด ประกอบกับต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้น ซึ่งถือเป็นปัญหาที่ผู้เลี้ยงหมูกำลังเผชิญกันทั่วโลก ทั้งเวียดนาม เกาหลี กัมพูชา โดยในไทย เนื้อหมูออกสู่ตลาดลดลงประมาณ 10% และราคาต้นทุนเลี้ยงหมูตก กก.ละ 59-60 บาท มีราคาขาย 69-70 บาท ผู้เลี้ยงได้กำไรกว่า 10% ถือว่าเหมาะสม และขณะนี้กระทรวงพาณิชย์จะยังไม่ห้ามการส่งออก เนื่องจากราคาในและต่างประเทศยังใกล้เคียงกัน รวมถึงปริมาณส่งออกมีเพียง 1% ของปริมาณเนื้อหมูทั้งหมดเท่านั้น

นางวัชรี กล่าวอีกว่า วันเดียวกันนี้ ได้หารือร่วมกับผู้เลี้ยงไก่ไข่ เพื่อแก้ปัญหาไข่ไก่ราคาแพง โดยได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการไข่ไก่ให้หยุดการส่งออกชั่วคราวจนกว่าผลผลิตที่ลดลงในขณะนี้จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และราคาเริ่มลดลง โดยคาดว่า สถานการณ์น่าจะเข้าสู่ภาวะปกติได้ประมาณเดือน ต.ค.จากก่อนหน้านี้ ที่ได้ขอความร่วมมืองดส่งออกเพียง 2 เดือนเท่านั้น แต่สำหรับผู้ประกอบการที่ทำสัญญากับลูกค้าต่างประเทศไว้ก่อนแล้ว ยังสามารถส่งออกได้ตามสัญญา ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ไทยส่งออกไข่ไก่เดือนละ 20-30 ล้านฟอง ขณะที่ความต้องการบริโภคในประเทศวันละ 25 ล้านฟอง แต่ผลผลิตขณะนี้ลดลงวันละประมาณ 3 ล้านฟอง

“ผลผลิตไข่ไก่เสียหายมาก เพราะเกิดโรคระบาดในไก่ ประกอบกับฟาร์มเลี้ยงไก่ในภาคใต้หลายฟาร์มเสียหายจากน้ำท่วม และราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์สูงขึ้นมา ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้น แล้วยังจะต้องมีต้นทุนที่จะต้องบำรุงรักษาโรคไก่ ต้นทุนที่จะต้องฟื้นฟูฟาร์ม เลยทำให้ราคาไข่ไก่คละ หน้าฟาร์มสูงขึ้นจากเดือน มี.ค.ถึงฟองละ 10-20 สตางค์ โดยมาอยู่ที่ฟองละ 3.10-3.20 บาท และเมื่อคิดเป็นราคาขายปลีกไข่ไก่เบอร์ 3 จะตกที่ฟองละ 3.50-3.60 บาท แต่ราคานี้ผู้เลี้ยงมีกำไรแค่ 10% เท่านั้น“ นางวัชรี กล่าว

นอกจากนี้ กรมการค้าภายใน จะร่วมกับผู้ประกอบการไข่ไก่ จัดโครงการไข่ไก่ธงฟ้า โดยจะนำไข่ไก่เบอร์ 3 จากผู้ผลิตมาขายสู่ผู้บริโภคทั่วประเทศโดยตรงวันละ 1 ล้านฟอง ในราคาถูกกว่าท้องตลาดฟองละ 20-30 สตางค์ เป็นเวลา 3 เดือน คาดว่า ในต่างจังหวัดจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย.นี้เป็นต้นไป ส่วนในกรุงเทพฯ จะเริ่มได้ในอีก 2 วัน หรือวันที่ 21 หรือ 22 เม.ย. ในตลาดสดต่างๆ เช่น ตลาดยิ่งเจริญ ตลาดอ่อนนุช ตลาดมีนบุรี เชื่อว่า โครงการนี้น่าจะทำให้ราคาตลาดไข่ไก่ลดลงได้บ้าง

พร้อมกันนั้น กรมการค้าภายใน จะนำสินค้าปลาป่น ซึ่งเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ เข้ามาอยู่ในบัญชีสินค้าที่ต้องติดตามดูแลเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพราะราคาในเดือนเม.ย.นี้ สูงขึ้นมากจากช่วงต้นปีมาอยู่ที่ กก.ละกว่า 30 บาท และเพิ่งลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ กก.ละ 42 บาท ซึ่งเกิดสึนามิในญี่ปุ่น ทำให้จับปลาได้น้อย ทั้งนี้ ปลาป่น คิดเป็นสัดส่วนที่จะต้องใช้ในอาหารสัตว์ 7% หรือราคาปลาป่นที่ขึ้นทุกๆ 1 บาท จะทำให้ราคาอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น 7 สตางค์ และทำให้ต้นทุนการเลี้ยงไข่ไก่เพิ่มขึ้น 10 สตางค์

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด กรมการค้าภายใน ได้ออกประกาศราคาแนะนำขายปลีกไข่ไก่แล้ว เพื่อให้ผู้ซื้อใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อ โดยราคาไข่คละหน้าฟาร์มที่ฟองละ 3.10-3.20 บาท เมื่อคัดแยกตามขนาด จะทำให้ราคาขายปลีกไข่ไก่เบอร์ 0 อยู่ที่ฟองละ 3.90-4.00 บาท, เบอร์ 1 ฟองละ 3.70-3.80 บาท, เบอร์ 2 ฟองละ 3.60-3.70 บาท, เบอร์ 3 ฟองละ 3.50-3.60 บาท, เบอร์ 4 ฟองละ 3.40-3.50 บาท และเบอร์ 5 ฟองละ 3.30-3.40 บาท

นายมาโนช ชูทับทิม นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ กล่าวว่า ขณะนี้ ต้นทุนทุกอย่างสูงขึ้นหมด โดยเฉพาะราคาอาหารสัตว์ที่สูงขึ้นจากต้นปีถึง กก.ละ 1 บาท แล้วจะให้ผู้เลี้ยงขายไข่ในราคาเดิมได้อย่างไร คนไทยเคยบริโภคไข่ไก่ราคาถูกมานานจนเคยตัว เมื่อราคาสูงขึ้นบ้างก็โวยวาย แต่ไม่นึกถึงเกษตรกรรายย่อย ที่ขาดทุนจนเจ๊งไปจำนวนมากแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น