ครม.อนุมัติงบ 570 ล้านบาท ช่วยชดเชยส่วนต่างราคาปุ๋ยให้เกษตรกร 50% เผยซื้อได้ราคา 1.25 หมื่นบาทต่อตัน จากเดิม 1.1 หมื่นบาทต่อตัน มอบ "ไตรรงค์" ดูแลปัญหา นัดประชุม 18 เม.ย.นี้ พร้อมไฟเขียวปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ ตามที่ ก.คลังเสนอ ด้านสหภาพฯ รง.ยาสูบ ออกโรงค้าน ชี้ ราคาบุหรี่ในประเทศพุ่ง แต่บุหรี่นอกราคาลดลง เตรียมเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วง
นางวัชรี วิมุกตายน กรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ ได้อนุมัติหลักการแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาปุ๋ยราคาแพง โดยเบื้องต้นอนุมัติงบประมาณ 570 ล้านบาท ในการช่วยเหลือค่าปุ๋ยให้กับเกษตรกร ในส่วนที่เพิ่มขึ้น 50 % เพื่อให้เกษตรกรซื้อได้ในราคา 1.25 หมื่นบาทต่อตัน จากราคาเดิม 1.1 หมื่นบาทต่อตัน และราคาตลาดตามต้นทุนที่แท้จริง 1.4 หมื่นบาทต่อตัน ซึ่งจะช่วยเหลือทั้งหมดในปริมาณ 3.8 แสนตัน เพื่อให้ทันฤดูการผลิตแรกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2554 นี้
อย่างไรก็ตามในส่วนของแนวทางปฏิบัติ ที่ประชุมได้มอบหมายหมายให้นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ไปพิจารณาแนวทางปฎิบัติและหาแหล่งงบประมาณ ซึ่งมี 2 แนวทาง คือ การใช้เงินจากของกองทุนคณะกรรมการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) หรืองบประมาณอื่น ขณะที่ในส่วนกระทรวงพาณิชย์จะมีโครงการปุ๋ยธงฟ้าปริมาณ 1 แสนตัน ขายในราคา 1.1 หมื่นบาทต่อตันให้กับเกษตรกร ซึ่งได้รับความร่วมมือจากเอกชนผู้ผลิตปุ๋ยแล้ว
นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบหลักการ ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกรอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ซื้อปุ๋ยจากโรงงานโดยตรง ตัดปัญหาพ่อค้าคนกลาง และมอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯไปให้ความรู้เกษตรกร ในการใช้ปุ๋ยเพราะที่ผ่านมาใช้ไม่เหมาะสมกับดิน โดยใช้ปุ๋ยยูเรียเกินความจำเป็น และต้องส่งเสริมปุ๋ยยูเรียควบคู่ปุ๋ยอินทรีย์
"ที่ประชุม ครม.จะให้ช่วยเหลือเกษตรกรเรื่องของปุ๋ยยูเรีย 4.8 แสนตัน โดย 1 แสนตันแรกจะให้ซื้อตรงจากโรงงานในราคาตันละ 11,000 บาท ซึ่งเป็นราคาเดิมก่อนที่จะมีการปรับขึ้นราคา โดยให้ ธ.ก.ส. เข้ามาช่วยเหลือในเรื่องของสินเชื่อ เนื่องจากเกษตรกรไม่มีเงินสดที่จะไปซื้อโดยตรง ส่วนที่เหลืออีก 3.8 แสนตัน ที่ราคาตันละ 14,000 บาทนั้น รัฐจะช่วยเหลือตันละ 1,500 บาท ซึ่งจะทำให้ราคาปุ๋ยอยู่ที่ 12,500 บาทต่อตัน"
นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างแก้ไข พ.ร.บ.ยาสูบ ตามที่กรมสรรพสามิตเสนอ ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนแปลงฐานการจัดเก็บภาษีจากราคาหน้าโรงงาน (ซีไอเอฟ) เป็นราคาขายปลีก โดยหลังจากที่ ครม. เห็นชอบแล้ว ก็จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายโดยเสนอสภาฯ เพื่อพิจารณาต่อไป
ด้านนายวินนท์ แสงมาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจยาสูบ กล่าวว่า ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อคัดค้านกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อราคาบุหรี่ที่ผลิตในประเทศ เพราะเมื่อมีการแก้ไขฐานจะทำให้ราคาปรับสูงขึ้น ขณะที่บุหรี่ต่างประเทศที่มีราคาสูงจะราคาถูกลง ส่งผลให้ส่วนแบ่งหายไปมากกว่า 30%
นอกจากนี้ หากกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับ จะทำให้รายได้ของยาสูบหายไปเพิ่มอีก 40% จากเดิมที่แต่ละปีที่โรงงานยาสูบมีการจ่ายภาษีอยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาท และนำส่งรายได้ 4 พันล้านบาท อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบอีกประมาณ 2 หมื่นครอบครัวด้วย
"หลังจากนี้ กลุ่มสหภาพฯ จะมีการเคลื่อนไหว โดยจะชวนเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบมาเรียกร้อง" นายวินนท์ กล่าว