“พลังงาน” เปิดตัว 5 เชื้อเพลิงใหม่ เพื่อรับมือน้ำมันแพง-เพิ่มทางเลือกในอนาคต เผย เป็นโอกาสในการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ รวมถึงการพัฒนาระบบไฟฟ้าสมาร์ทกริด ซึ่งจะเป็นเทคโนโลยีที่สามารถเปลี่ยนระบบการผลิตไฟฟ้า และระบบส่ง ระบบจ่ายไฟฟ้าและบริการผู้ใช้ไฟฟ้า ให้เป็นโครงข่ายที่เชื่อมต่อกัน
นายทวารัฐ สูตะบุตร รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ความไม่สงบของกลุ่มประเทศแอฟริกาเหนือ โดยเฉพาะในประเทศลิเบีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันส่งออรายใหญ่ของโลก รวมทั้งปัญหาจากอุบัติภัยทางธรรมชาติครั้งรุนแรง ที่ประเทศญี่ปุ่นในขณะนี้ ได้ส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีความผันผวน และได้ปรับตัวเกิน 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จนอาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะยาว
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมรับสถานการณ์วิกฤตราคาน้ำมันแพงในอนาคต ปัจจุบันได้มีกลุ่มเชื้อเพลิงทางเลือกใหม่ 5 ประเภท ซึ่งกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างติดตามเพื่อเตรียมการศึกษาอย่างจริงจังต่อไป ได้แก่ 1) เชื้อเพลิงเหลวจากก๊าซธรรมชาติ (GTL) โดยการแปลงรูปแบบก๊าซธรรมชาติ ให้เป็นเชื้อเพลิงเหลว ที่ดำเนินการโดยขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบหลักที่ซับซ้อนของก๊าซธรรมชาติ ด้วยกระบวนการแยกสสารต่างๆ (Cracking) ไปสู่สารประกอบไฮโดรคาร์บอนโมเลกุลใหญ่ หรือเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงผ่านกระบวนการ
2) การเปลี่ยนถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง (Coal to liquid : CTL) ที่จะมีการแปรสภาพถ่านหินให้กลายเป็นก๊าซสังเคราะห์ โดยผ่านขั้นตอนต่างๆ ที่ท้ายสุดแล้วจะถูกเปลี่ยนเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงเช่นกัน
3) เชื้อเพลิง Dimethyl ether (DME) ที่ถือเป็นสารประกอบประเภทอีเทอร์ ที่สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงแทนที่น้ำมันดีเซล หรือก๊าซหุงต้ม ได้ เนื่องจากมีค่าซีเทนสูงถึง 55-60 โดยการผลิต DMF สามารถผลิต ได้จากวัตถุดิบหลายชนิด เช่น ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน เป็นต้น
4) เชื้อเพลิงไฮโดรเจน โดยคุณสมบัติของไฮโดรเจน 1 กิโลกรัม สามารถให้ค่าพลังงานความร้อนเทียบเท่าน้ำมันเบนซิน 1 แกลลอน และมีประสิทธิภาพการสันดาปภายในสูงกว่าน้ำมันเบนซิน 2-3 เท่า ซึ่งคาดว่าในอนาคตหากต้นทุนการผลิตไฮโดรเจนถูกกว่า 210 บาทต่อกิโลไฮโดรเจน จะแข่งขันกับน้ำมันได้
และ 5) เชื้อเพลิงชีวมวล (Biomass to Liquid : BTL) ที่มีหลายรูปแบบ อาทิ การผลิตน้ำมันดีเซลจากแบคทีเรียชนิดหนึ่ง การผลิตเอทานอล จาก ผักตบชวา ฟางข้าว การผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินสังเคราะห์ และการผลิตน้ำมันจากไม้ เป็นต้น
นายทวารัฐ กล่าวเพิ่มว่า นอกจากเชื้อเพลิงใหม่ทั้ง 5 ประเภทดังกล่าวแล้ว ในการรองรับราคาน้ำมันแพงในอนาคต จะเป็นโอกาสให้มีการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า (Electric vehicle : EV) ซึ่งใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ โดยปัจจุบันเริ่มมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่สามารถขับเคลื่อนได้ถึง 130 กิโลเมตรต่อการชาร์จแบตเตอรี่ 1 ครั้ง รวมทั้งการพัฒนาระบบไฟฟ้าพลังงานสมบูรณ์แบบ หรือสมาร์ทกริด ซึ่งจะเป็นเทคโนโลยีที่สามารถเปลี่ยนระบบการผลิตไฟฟ้า และระบบส่ง ระบบจ่ายไฟฟ้า และบริการผู้ใช้ไฟฟ้า ให้เป็นโครงข่ายที่เชื่อมต่อกัน รวมไปถึงการพัฒนาระบบสะสมพลังาน ที่เกี่ยวเนื่องไปถึงแบตเตอรี่ในรถยนต์ไฟฟ้าต่อไป