xs
xsm
sm
md
lg

พณ.ไฟเขียวปุ๋ยขึ้นราคา 14-35% มีผล 8 เม.ย.นี้ แจงอั้นต้นทุนไม่ไหว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” ไฟเขียวปุ๋ยเคมี 4 สูตร ปรับขึ้นราคา 14-35% มีผล 8 เม.ย.นี้ “เกษตรกร” น้ำตาตกใน “ปุ๋ยยูเรีย” ที่นิยมใช้ขึ้นราคาสุดโหด 2.4-3.2 พันบาทต่อตัน อ้างต้นทุนพุ่ง “ชาวนา” กุมขมับเริ่มเข้าฤดูเพาะปลูก “เจ๊วา” เต้นสั่งเบรกทันควัน หวั่นซ้ำเติมเกษตรกรช่วงน้ำท่วม

นางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวถึงผลการประชุมคณะอนุกรรมการ พิจารณาราคาปุ๋ยเคมี เมื่อช่วงเช้าวันที่ 7 เมษายน 2554 โดยระบุว่า ที่ประชุมได้มีมติอนุมัติให้ปรับขึ้นราคาขาย ณ โรงงาน และราคาขายปลีกปุ๋ยเคมีที่มียูเรีย เฉลี่ยที่ 14-35% ตามสูตร โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2554 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุดิบยูเรียนำเข้าที่ได้ปรับสูงขึ้นเฉลี่ยประมาณ 106 ดอลลาร์ต่อตัน หรือประมาณ 3,200 บาท จากเดิมราคาซี.ไอ.เอฟ.เมื่อเดือนกันยายน 2553 ตันละ 313 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันได้เพิ่มเป็นตันละ 419 ดอลลาร์สหรัฐฯ จึงได้อนุมัติให้ปรับขึ้นราคาในสัดส่วนเท่ากับต้นทุนที่ปรับขึ้น

“สาเหตุที่ต้นทุนปรับขึ้นจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกขยับสูง ทำให้ราคายูเรียซึ่งเป็นสินค้าเกี่ยวข้องปรับขึ้นตาม ประกอบกับหลายประเทศเพิ่มการปลูกพืชพลังงานทดแทน และมีการขยายพื้นที่ปลูกสินค้าเกษตรมากขึ้น และประเทศจีนซึ่งเป็นแหล่งส่งออก ก็ได้ปรับเพิ่มภาษีส่งออก จาก 7 เป็น 110% เพื่อลดปริมาณการส่งออก จึงกระทบต่อต้นทุนการผลิต เพราะเราต้องนำเข้าวัตถุดิบเป็นหลัก”

สำหรับหลักเกณฑ์ในการปรับขึ้นราคาครั้งนี้ ได้พิจารณาให้ปรับขึ้นในสัดส่วนเดียวกับต้นทุนนำเข้า โดยกำหนดเป็นราคาขายส่ง หน้าโรงงาน และราคาขายปลีกของแต่ละสูตร ดังนี้

ปุ๋ยยูเรียสูตร 46-0-0 ราคานำเข้าเพิ่มขึ้นจาก 9,703 บาทต่อตัน เป็น 12,113-12,913 บาทต่อตัน จึงปรับขึ้นราคาขาย ณ โรงงานจากเดิม 11,000 บาทต่อตัน เป็น 13,410-14,210 บาทต่อตัน หรือ จากเดิม 550 บาทต่อถุง เป็น 671-711 บาทต่อถุง

ส่วนราคาขายปลีก กรุงเทพมหานคร (กมท.) เพิ่มจาก 584 บาทต่อถุง เป็น 725-765 บาทต่อถุง โดยราคาขายปลีกภาคเหนือ 762-866 บาทต่อถุง ภาคอีสาน 786-821 บาทต่อถุง และภาคใต้ 807-864 บาทต่อถุง

สูตร 15-15-15 ราคานำเข้าเพิ่มขึ้นจาก 11,935 บาทต่อตัน เป็น 13,606-14,247 บาทต่อตัน จึงได้ปรับขึ้นราคาขาย ณ โรงงานจากเดิม 14,000 บาทต่อตัน เป็น 15,671-16,342 บาทต่อตัน หรือ จากเดิม 700 บาทต่อถุง เป็น 784-816 บาทต่อถุง ส่วนราคาขายปลีก กมท. เพิ่มจาก 734 บาทต่อถุง เป็น 838-870 บาทต่อถุง

สูตร 16-20-0 ราคานำเข้าปรับขึ้นจาก 10,385 บาทต่อตัน 11,230-12,721 บาทต่อตัน จึงได้ปรับขึ้นราคาขาย ณ โรงงานจากเดิม 11,500 บาทต่อตัน เป็น 12,345-13,836 บาทต่อตัน หรือจาก 575 บาทต่อถุง เป็น 618-692 บาทต่อถุง และราคาขายปลีก กทม.จาก 609 บาทต่อถุง เป็น 672-746 บาทต่อถุง

และปุ๋ยยูเรีย 21-0-0 ราคานำเข้าปรับขึ้นจาก 4,495 บาทต่อตัน เป็น 5,634-6,495 บาทต่อตัน จึงได้ปรับราคาขาย ณ โรงงาน จาก 6,000 บาทต่อตัน เป็น 7,139-8,000 บาทต่อตัน หรือจาก 300 บาทต่อถุง เป็น 357-400 บาทต่อถุง และปรับราคาขายปลีก กทม.จาก 334 บาทต่อถุง เป็น 411-454 บาทต่อถุง

อย่างไรก็ตาม กรมการค้าภายในจะสั่งติตตามสถานการณ์ต้นทุนปุ๋ยอย่างต่อเนื่อง เพื่อจัดประชุมประเมินสถานการ์ทุกเดือน และอาจจะมีการปรับราคาขึ้นลงหลังจากนี้ โดยหากสถานการณ์ราคาวัตถุดิบปรับราคาลดลง ก็จะพิจารณาปรับราคาลง เช่นเดียวกับปี 2551 และปี 2553 ซึ่งได้มีการปรับราคาปุ๋ยยูเรียลดลง 8-24% อีกทั้งจะศึกษาความในไปได้ในการจัดทำปุ๋ยธงฟ้า เพื่อลดภาระให้กับเกษตรกรต่อไป

นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า การปรับขึ้นราคาปุ๋ยส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของชาวนาแน่นอน โดยเฉพาะการปรับขึ้นราคาปุ๋ยสูตร 46-0-0 และปุ๋ยสูตร 16-20-0 ซึ่งจะเริ่มซื้อเพื่อเตรียมการปลูกฤดูใหม่ในช่วงหลังจากเดือนพฤษภาคม 2554 เป็นต้นไป

ด้าน นายเปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ย และธุรกิจเกษตรไทย กล่าวว่า แนวโน้มความต้องการใช้ปุ๋ยของไทยในปีนี้น่าจะอยู่ที่ 4.7 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อน 5.14 ล้านตัน โดยปริมาณความต้องการใช้สุงสุดคือปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 ประมาณ 2 ล้านต้น

สำหรับปริมาณสต๊อกปุ๋ยนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2554 มี 1 ล้านตัน ใช้ไปแล้ว 6 แสนตัน จนถึงขณะนี้เหลือปุ๋ยในสต๊อกประมาณ 4 แสนตัน ซึ่งหลังจากปรับขึ้นราคา ผู้ประกอบการจะเพิ่มปริมาณการผลิต และนำเข้าแม่ปุ๋ยมากขึ้น เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้จริง

ล่าสุด มีรายงานว่า นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ออกมาสั่งเบรกแล้ว โดยให้ชะลอการปรับขึ้นราคาไปก่อน โดยระบุว่า เกษตรกรในหลายจังหวัด ยังได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม และการระบาดของศัตรูพืช ทำให้รายได้จากการขายผลผลิตทางการเกษตรลดลง จึงได้สั่งการให้กรมการค้าภายในตรวจสอบข้อเท็จจริงและหาแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกร โดยให้ชะลอการปรับราคาปุ๋ยเคมีออกไปก่อน

นอกจากนี้ ยังสั่งให้สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย จัดทำโครงการปุ๋ยธงฟ้า จำหน่ายปุ๋ยราคาถูกให้กับทางเกษตรกร เพื่อบรรเทาภาระต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน โดย นางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ทางสมาคมยินดีให้ความร่วมมือจัดทำปุ๋ยเคมี เพื่อจำหน่ายตามโครงการปุ๋ยธงฟ้า จำนวน 100,000 ตัน โดยจะดำเนินการให้ทันกับความต้องการของเกษตรกร ในช่วงฤดูกาลเพาะปลูกนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น