xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค-กรณ์-ประสาร” ยาหอมนักลงทุน หนุนรัฐ-เอกชน ร่วมขับเคลื่อน ศก.ไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นายกฯ บรรยายพิเศษ อวดศักยภาพไทยแก่นักลงทุน-ผู้จัดการกองทุนทั่วโลก เผยเศรษฐกิจไทยจะเดินหน้าได้ ต้องอาศัยการขับเคลื่อนจากภาครัฐและเอกชน รมว.คลัง ย้ำ 4 นโยบายหลัก เพื่อสร้างความมั่นใจ-กระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน ยอมรับ ต่างชาติห่วงปัญหาเงินเฟ้อ เผยคุมราคาสินค้าทำยาก พร้อมเดินหน้าขึ้นค่าแรงขั้นต่ำช่วง 2 ปีข้างหน้า ปรับโครงสร้างภาษี อุ้มผู้ประกอบการ แย้มลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 18-19% ผู้ว่าการ ธปท.ยันใช้นโยบายการเงินดึงเชื่อมั่น ยืนยันจะดูแลอัตราดอกเบี้ยให้เกิดความสมดุลพร้อมระบุการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเริ่มเข้าสู่ภาวะสมดุล

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวบรรยายพิเศษในงาน “ไทยแลนด์โฟกัส 2011” ในหัวข้อ “Enhancing Thailand's Competitiveness Over the Next Decade” เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนและผู้จัดการกองทุนจากทั่วโลก โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า ตนเองประสงค์ที่จะเห็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่กระตุ้นความสนใจในประเทศไทย รวมทั้งโอกาสทางการลงทุน คงจะมีหลายคนในที่นี้ ยังคงสงสัยว่าจะสามารถคาดหวังอะไรจากประเทศไทยได้ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้วางฐานที่จำเป็นสำหรับประเทศไว้แล้ว เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและพร้อมด้วยความสามารถในการแข่งขันสำหรับอนาคต

นายกรัฐมนตรี กล่าวได้ว่า เศรษฐกิจประเทศไทยได้ผ่านความท้าทายด้วยความเข้มแข็งยิ่งกว่าเดิม ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่เราได้รับผลกระทบจากวิกฤตทางการเงิน ในปี 2008 ผลกระทบกับประเทศไทย ฉับพลันและกว้างขวาง ยกตัวอย่างเช่น การส่งออกหดตัวถึง 20% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2008 ความหวาดกลัวได้ทำให้เกิดความหดตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2009 มีการตัดกำลังการผลิตและอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งในครั้งนั้น ประเทศไทย ได้ตอบสนองอย่างรวดเร็ว ในฐานะผู้แทนอาเซียน นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมในการประสานความพยายามในการร่างนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาการหดตัวของเศรษฐกิจ

สำหรับในประเทศแล้ว เราได้ใช้นโยบายการต่อต้านวงจรการหดตัวทางเศรษฐกิจโดยทันท่วงที จึงทำให้เราสามารถทำให้เศรษฐกิจไทยมั่นคง และได้รับความเชื่อมั่นกลับมาอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยไม่เคยเสียการได้เปรียบด้านการแข่งขันหรือเสียดุลทางเศรษฐกิจ ตกต่ำถึงขั้นการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และประเทศไทยไม่เคยพบกับปัญหาทางเศรษฐกิจเช่นกัน ในปีเดียวกัน เงินไทยแข็งต่อต่อเงินสหรัฐ ค่าเงินเฟ้อยังคงควบคุมได้และการลงทุนยังคงเข้ามาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เป็นสัญญานว่า ความมั่นคงทางการเงิน และพื้นฐานทางเศรษฐกิจมิได้ถูกกระทบแม้แต่น้อย

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า นโยบายของเราทำให้ประเทศไทย อยู่ในฐานะที่จะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลกในปี 2010 ท่านคงทราบดีว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) อยู่ที่ระดับ 8% สำหรับปีที่แล้ว ในขณะที่บัญชีเงินสะพัดยังคงมีการเพิ่มขึ้นและแข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเงินบาทที่แข็งตัวยืนยันการเป็นผู้ที่มีความสามารถในการแข่งขันที่แท้จริง เราได้ผลักดัน อัตราการว่างงานให้ต่ำลงกว่าร้อยละ 1 และเพิ่มศักยภาพในการใช้ทรัพยากร จึงทำให้มีความเข้มแข็งในวงจรการลงทุนของต้นทุน แนวโน้มความเข้มแข็งเศรษฐกิจมีมากขึ้นในประเทศไทย

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะไม่เข้าไปสู่รายละเอียดเกี่ยวกับความสามารถของบริษัทไทยในการลงทุน ว่าทำให้เกิดผลกำไรอย่างไร แต่ขอกล่าวว่า รายรับของครอบครัวคนไทย ยังคงมีหนี้สินในอัตราต่ำ อยู่ที่อัตราร้อยละ 55 ของรายรับต่อปี และเพื่อที่อำนาจการใช้จ่ายยังคงมั่นคงและต่อเนื่อง ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า รายรับของเกษตรกรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นี่เป็นผลมาจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลนำมาใช้ นอกจากนี้ แผนไทยเข้มแข็ง ปี 2012 จะยิ่งทำให้รายรับของคนไทยเพิ่มขึ้นพร้อมกับอำนาจซื้อ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถึงแม้เราจะพยายามมากเพียงใดแต่ปัญหาความไม่สงบทางการเมืองที่ประเทศไทยประสบในห้วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยเสียหายเป็นอย่างมาก ซึ่งอาจทำให้หลายคนไม่มั่นใจเกี่ยวกับอนาคตทางเศรษฐกิจของไทย แต่ที่เราได้เห็นนั้นได้ทำให้ประจักษ์แล้วว่า ความพยายามของรัฐบาล ได้นำมาสู่มาตรการในการทำให้ประเทศไทยกลับมาสู่ภาวะปกติ และนำกระบวนการทางประชาธิปไตยให้ก้าวไปข้างหน้า การเลือกตั้งทั่วไปจะมีขึ้นในเร็ววันนี้ และจะนำอำนาจคืนให้แก่ประชาชน และจะสามารถทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางการเมืองและอยู่ภายใต้กฎของกฎหมาย

นายกรัฐมนตรี มั่นใจว่า เมื่อคนไทยได้ใข้สิทธิเลือกตั้งอย่างประชาธิปไตยในการเลือกรัฐบาลชุดต่อไป ความมั่นคงทางการเมืองจะเข้มแข็งมากขึ้น เมื่อความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลกเพิ่มพูนมากขึ้น ก็เป็นสิ่งที่น่าจะเชื่อได้ว่า ชาวไทยส่วนใหญ่คงเลือกให้มีการสานต่อทางนโยบายเพื่อเพิ่มการเจริญเติบโต ความมั่นคง และความปรองดองของประเทศ ซึ่งรัฐบาลได้เริ่มต้นในสิ่งนี้ไว้แล้ว ทั้งนี้ หวังว่าคนไทยจะให้คะแนนเสียงในการนำเข้ามาของรัฐบาลที่เข้มแข็ง แม้ว่าจะมีการร่วมพรรคเพื่อจัดตั้งรัฐบาลก็ตาม การประนีประนอม คือ หัวใจของระบบประชาธิปไตย

นายกรัฐมนตรี ยังได้ยืนยันว่า พื้นฐานการเมืองของประเทศไทยอยู่บนรากฐานที่ดีแล้ว ถึงแม้เราจะมีความแตกต่างทางการเมืองอยู่ การปฎิรูประบบประชาธิปไตยที่เราได้นำมาใช้ได้แก้ปัญหาที่สำคัญ รัฐบาลที่ถูกเลือกตั้งมาอย่างประชาธิปไตย ควรจะไม่พบปัญหาใดๆ ทางด้านการเมือง และการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้พรรคร่วมก็คงไม่มีปัญหาภายใต้ระบบการเมืองที่ผ่านการเลือกตั้ง ส่วนที่สำคัญที่สุด คือ ทุกพรรคการเมือง ทุกกลุ่มจะต้องมองที่การเลือกตั้ง ไม่ใช่บนท้องถนน หากจะแสดงความเห็นต่างทางการเมือง การชุมนุมประท้วงบนท้องถนน คือ ส่วนหนึ่งของการเมืองไทย แต่เรามุ่งเน้นความสนใจแต่เฉพาะหลักนิติรัฐและเจ้าหน้าที่ก็มีความเข้าใจที่จะสร้างหลักประกันให้การชุมนุมประท้วงเป็นไปอย่างสงบ ให้เกิดการฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ให้น้อยที่สุดเพื่อสังคมและเศรษฐกิจ

ส่วนอีกด้านของโลก ความวุ่นวายทางการเมืองในตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ ได้ก่อให้เกิดทิศทางของเศรษฐกิจไทยที่สำคัญ การเติบโตของเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของไทยทำให้เราต้องพึ่งการส่งออกน้ำมันและถูกบีบโดยภาวะที่ขาดแคลนแรงงานมีทักษะ ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่สูงขึ้นได้ก่อประโยชน์ต่อชาวนาและเกษตรกรแต่ขณะเดียวกันก็สร้างแรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อภายในประเทศ นี่คือความท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นของเศรษฐกิจไทยในปี 2011 รัฐบาลได้มีมาตรการในระยะสั้นเพื่อจำกัดราคาน้ำมัน เพื่อให้แน่ใจว่าภาวะเงินเฟ้อจะได้รับการควบคุม เรายังต้องการความแน่ใจว่าค่าครองชีพที่สูงขึ้นจะไม่กระทบต่อประชาชนบางส่วนอย่างไม่สมดุล ดังนั้น เราจึงได้มีนโยบายค่าไฟฟ้าฟรี 10 ล้านครั้งเรือน ที่ใช้จ่ายไฟฟ้าอย่างเหมาะสม มีการอุดหนุนก๊าซแอลพีจีสำหรับการใช้ในครัวเรือน ในระยะสั้น บุคคลที่มีรายรับต่ำอาจจะได้รับผลกระทบต่อราคาสินค้าที่สูงขึ้นและเขาเหล่านั้นต้องได้รับการเยียวยา

นายกรัฐมนตรี ยังได้แสดงความเข้าใจต่อมาตรการอุดหนุนว่าอาจมีผลกระทบในการบิดเบือนโครงสร้างราคาตลาด การกระจายทรัพยากรอย่างไม่สม่ำเสมอและภาระทางการเงินของรัฐบาล ดังนั้น รัฐบาลจึงตั้งเป้าหมายเพียงเพื่อที่จะรับมือต่อความผันผวนของราคาในระดับเศรษฐกิจโลกโดยมีแผนที่ชัดเจนและพร้อมที่จะยกเลิกเมื่อเศรษฐกิจได้ปรับตัวดึขึ้น รัฐบาลยังเชื่อว่าหากราคาค่อยๆ ปรับตัวขึ้น จะช่วยให้สามารถควบคุมภาวะเงินเฟ้อได้ และสามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของการปล่อยสินเชื่อที่มากเกินไป

“ความวุ่นวายทางการเมืองในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือได้สอนเราว่าความเติบโตของ GDP ไม่ใช่ตัวชี้วัดที่สำคัญทั้งหมด ความเติบโตที่ได้ทิ้งคนกลุ่มใหญ่ไว้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถรับได้ หากจำเป็น นายกรัฐมนตรีได้ยืนยันการสนับสนุนข้อเสนอที่จะให้ขึ้นค่าแรงในการทำงาน แต่ข้อเสนอดังกล่าวก็ต้องทำ โดยมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ รัฐบาลได้ปฏิรูปการศึกษามากว่า 2 ทศวรรษ โดยได้มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพของครู การเพิ่มศักยภาพของเทคโนโลยีการเรียนการสอน พัฒนาหลักสูตรด้านวิทยาศาสตร์และสนับสนุนการอาชีวศึกษา เพื่อที่จะให้ผู้เรียนจบมีงานทำตามที่ตลาดแรงงานต้องการ”

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้มีการขยายการฝึกอบรมทักษะแรงงาน เพื่อเป็นเพิ่มผลผลิต และหมั่นใจว่าต้นทุนแรงงานที่ต่ำและความสามารถในการผลิตของไทย จะช่วยให้ไทยยังคงมีความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติ การที่ไทยมีโรงงานการผลิตที่หลากหลาย ทำให้ไทยเป็นฐานการผลิต และผู้นำด้านการส่งออกชิ้นส่วนอะไหล่และรถยนต์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในด้านการแข่งขัน และคุณภาพของแรงงานในอุตสาหกรรมของไทย ความจริงที่ว่า เป้าหมายในความพยายามที่จะผลักดันให้ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของไทย ถูกท้าทายที่ว่าการขาดแคลนแรงงานซึ่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะกลาง อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้ทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด เพื่อออกแบบและดำเนินโครงการฝึกอบรมเพื่อให้แน่ใจว่าเรามีนักเทคนิค แรงงานที่มีความสามารถเพียงพอและเพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ภาวะเงินเฟ้อยังคงเป็นความท้าทายสำหรับไทยและโลกโดยรวม รัฐบาลได้มีการทำงานร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ความแน่ใจว่าความสามารถทางการแข่งขันของไทยจะไม่สูญเสีย เนื่องจากราคาสินค้าของไทยพุ่งสูงขึ้นกว่าประเทศคู่แข่งอื่นๆ หากพิจารณาจากโครงสร้าง เราสามารถคาดการณ์ได้ว่าราคาน้ำมันอยู่ในช่วงขาขึ้น มีความจำเป็นที่จะต้องลดการพึ่งกาการนำเข้าน้ำมันและลดสัดส่วนต้นทุนการขนส่งที่พึ่งพาการขนส่งทางรถยนต์

คำถามที่ว่า รัฐบาลมีบทบาทอย่างไรในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาในระยะยาวของประเทศ ประการแรก รัฐบาลได้มีการออกกฎหมายความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและเอกชนไทย เพื่อสนับสนุนความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนเอกชนสำหรับโครงการก่อสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ การปรับแก้กฎระเบียบวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงกระบวนการอนุมัติ ส่งเสริมความโปร่งใส สร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน ยุติธรรมและมีความรับชอบ ในระหว่างที่รอกระบวนการทางกฎหมายเสร็จสมบูรณ์ เชื่อว่า รัฐบาลชุดต่อๆ มาก็ย่อมต้องเดินหน้าตามแนวทางที่จำเป็นนี้อย่างหลีกเลี่ยงมิได้

นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวถึงโครงการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในปีต่อๆ ไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบราง ซึ่งได้มีการเดินหน้าระบบขนส่งขนาดใหญ่ทั้งภายในกรุงเทพและปริมณทล การสร้างเครือข่ายระบบรางอยู่ระหว่างการเจรจา เพื่อเชื่อมต่อกับอาเวียนที่เป็นแผ่นดิน ซึ่งจะมีไทยเป็นศูนย์กลางที่สำคัญ ซึ่งเป็นการเดินหน้าคู่ขนานไปกับการสร้างความเข้มแข็งในการเชื่อมโยงของอาเซียน ซึ่งจำเป็นต้องได้มีการลงทุนและร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ซึ่งเชื่อว่า การพัฒนาและปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและเอกชนจะช่วยพยายามดังกล่าวนี้ นอกจากนี้ รัฐบาลยังเดินหน้าความร่วมมือทั้งในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศเพื่อเกิดเสรีการค้าและส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ อาทิ การลดหย่อนภาษี ภาษีนำเข้า รวมทั้งการพัฒนาและยืดหยุ่นระบบภาษีและกฎระเบียบต่างๆ ของไทย

สำหรับการร่างกฎหมายว่าด้วยเรื่องที่ดินและอสังหาริมทรัพย์เพื่อให้มีการกระจายความร่ำรวยอย่างเป็นธรรม ส่งเสริมรายได้ภาครัฐ และการใช้ประโยชน์จากที่ดิน นโยบายต่างๆที่กล่าวมาจะทำให้มองเห็นวิสัยทัศน์และบทบาทของรัฐบาลในการส่งเสริมการเติบโตและพัฒนาทางเศรษฐกิจ

ด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตและความหลากหลาย ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่าน มูลค่าการลงทุน 6 พันล้านดอลลาร์ต่อต่อปี ยังสามารถยืนอยู่ได้แม้ว่าไทยจะประสบปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง อุตสาหกรรมยานยนต์และอิเลคทรอนิกส์ รวมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ ของไทยอยู่ในช่วงขาขึ้นของวงจรการลงทุนของภาคเอกชนไทย โดยเฉพาะการเพิ่มการลงทุนในอุตสาหกรรม พลังงานและปิโตรเคมี รถยนต์และอะไหล่ อิเล็กทรอนิกส์ และเกษตรกรรม ความสามารถในการรักษาการเติบโต ถึงสองตัวเลขของการลงทุนภาคเอกชนตลอกช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ช่วยยืนยันว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งปีของไทยจะไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ในทศวรรตปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี เชื่อว่า การดำเนินงานของรัฐเอง ดำเนินการได้เพียงในระดับหนึ่ง เราต้องอาศัยการลงทุนจากภาคเอกชนด้วย โดยเฉพาะตลาดตราสารทุน ตลาดหลักทรัพย์จะมีบทบาทสำคัญในการกระจายทุนอย่างมีประสิทธิภาพ การหมุนเวียนทุนของเอกชนจะเป็นตัวกำหนดอัตราการเติบโตในระยะยาว เชื่อว่าการประชุมครั้งนี้จะประสบความสำเร็จและเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

ด้าน นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายระยะยาวใน 4 เรื่อง ได้แก่ การพัฒนาระบบการศึกษา ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ การพัฒนาระบบสาธารณูปโภค โดยเฉพาะการขนส่งในระบบราง และระบบน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งมีแผนแม่บทในการลงทุนสูงถึง 1.7 ล้านล้านบาท การเปิดตลาดสินค้าไทยให้เข้าถึงตลาดโลก และเปิดโอกาสให้นานาประเทศเข้าถึงตลาดไทยมากขึ้น และการพัฒนาระบบการแข่งขันในทุกภาคอุตสาหกรรม ให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรม

“ยอมรับว่า ปัจจุบันยังมีระเบียบขั้นตอนที่เป็นอุปสรรคต่อการเปิดเสรี ดังนั้น ยุทธศาสตร์ต่างๆ ของรัฐบาล จะมุ่งตอบสนองต่อทั้ง 4 เรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีการซักถาม เกี่ยวกับการลงทุนในประเทศไทยอย่างกว้างขวาง ซึ่งสะท้อนถึงความสนใจที่นักธุรกิจนานาชาติ มีต่อประเทศไทยเป็นอย่างดี”

สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในขณะนี้ รมว.คลัง มองว่า ยังคงมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งถือว่ามีความน่าเป็นห่วง โดยในเรื่องนี้ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการดูแลเสถียรภาพมาโดยตลอด ส่วนรัฐบาลจะดูแลในด้านรายได้ของประชาชน ทั้งการประกันรายได้เกษตรกร รวมไปถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อีกร้อยละ 25 ภายในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งขอยืนยันว่า จะไม่ให้มีผลกระทบ เพราะผู้ประกอบการ และการดูค่าครองชีพของรัฐบาลนั้น จะไม่มีการแทรกแซงราคาสินค้า เพราะอาจเป็นการบิดเบือนกลไกตลาดได้

รมว.คลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนนโยบายของรัฐบาลจะยังคงมุ่งเน้นด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ และการพัฒนาระบบการค้า ให้เกิดความเป็นธรรม รวมไปถึงระบบการศึกษา และสาธารณูปโภค เพื่อเป็นการพัฒนาประเทศต่อไป ส่วนการดูแลภาคเอกชน ขณะนี้ กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ การพิจารณาลดภาษีนิติบุคลให้เหลือในอัตรา 18-19% เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุน แต่จะต้องไม่กระทบกับภาระงบประมาณในระยะยาว

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า วันนี้ ธปท.ได้มีการให้ข้อมูลกับนักลงทุนต่างประเทศ ในงานไทยแลนด์โฟกัสฯ โดยยืนยันว่า ปัญหาภาวะเงินเฟ้อของไทยไม่ถึงกับเป็นปัญหาใหญ่ในแง่การพิจารณาเศรษฐกิจมหภาค มองว่าเป็นเรื่องของความสมดุลระหว่างผู้ฝากเงินกับผู้กู้มากกว่า ซึ่งได้คุยกับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนนโยบายหรือไม่มีความจำเป็นจะต้องเร่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ประเด็นที่นักลงทุนต่างชาติสอบถ้าเข้ามาค่อนข้างมากเป็นเรื่องแนวทางการดูแลเงินเฟ้อและอัตราแลกเปลี่ยนของ ธปท. ซึ่งทาง ธปท.ได้ชี้แจงไปว่าเงินเฟ้อแม้เป็นเรื่องที่น่าห่วง แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ และเชื่อว่าจะสามารถจัดการได้ผ่านเครื่องมือดอกเบี้ยนโยบาย พร้อมยอมรับว่า ตอนนี้ดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยยังติดลบอยู่ แต่คิดว่าไปถึงปลายปีแล้วดอกเบี้ยจะเข้าใกล้เขตบวกเพื่อรักษาสมดุล

“ถ้าดูในแง่ของความสมดุลทางเศรษฐกิจมหภาคโดยทั่วไปแล้ว จะเห็นว่าช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เรามักพิจารณาเชิงเปรียบเทียบระหว่างการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจกับเงินเฟ้อ ซึ่งปีก่อนๆ เราให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจค่อนข้างมาก เพราะเป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ปีที่ผ่านมาต่อเนื่องถึงไตรมาสแรกของปีนี้ จะเห็นว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจค่อนข้างชัดเจน แต่ขณะเดียวกันก็มีปัจจัยแวดล้อมที่เสริมไปในทิศทางว่าอาจทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อได้ ทั้งจากอุปทาน อุปสงค์ และการคาดการณ์เงินเฟ้อที่เป็นเรื่องสำคัญ”

ก่อนหน้านี้ ประเทศไทยประสบปัญหาเศรษฐกิจวิกฤตเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวไป แต่คาดว่าปลายปีนี้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะค่อยๆ ขยับเข้าใกล้แดนบวก เนื่องจากการเติบโตของศรษฐกิจกไทยในปีนี้จากปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบันมีการปรับตัวอย่างเข้มแข็งมากขึ้น จำเป็นต้องมีการสร้างความเชื่อมั่นและมีการเหนี่ยวรั้งในการคาดการณ์เงินเฟ้อ ซึ่งคาดว่า จะทำให้อัตราดอกเบี้ยกลับมาเป็นปกติ

ส่วนผลกระทบที่ได้รับจากเหตุการณ์สึนามิญี่ปุ่นในระยะสั้นคาดว่า การส่งออกและการนำเข้าของไทยคงได้รับผลกระทบ แต่ในระยะยาว เช่น การลงทุนโดยตรงจะไม่ได้รับผลกระทบในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามคาดการณ์ว่าในครึ่งหลังปีนี้เศรษฐกิจญี่ปุ่นน่าจะกลับมาฟื้นตัว แต่อย่างไรก็ตาม ต้องมีการติดตามปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ว่าจะมีการบริหารจัดการได้เร็วแค่ไหน และจะสร้างอุปสรรคกับเศรษฐกิจอย่างไร

สำหรับรายละเอียดของงานไทยแลนด์โฟกัส 2011 เสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของไทย สู่ทศวรรตหน้า จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร จำกัด (มหาชน) และแบงก์ ออฟ อเมริกา-เมอร์ริล ลินช์ ที่โรงแรมโฟซีซั่น เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงของภาครัฐและเอกชน ร่วมนำเสนอศักยภาพบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความสนใจของนักลงทุน และการกู้ลงทุนกับสถาบันระดับโลก เพื่อยกระดับการแข่งขันของไทยในทศวรรษหน้า โดยมีบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลท.กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานดังกล่าว เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของไทย สู่ทศวรรตหน้า โดยมีนักลงทุนจากในประเทศและต่างประเทศ ทุกภาคอุตสาหกรรม ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักลงทุนในตลาดทุนไทย ว่า การสัมมนาในครั้งนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้กับนักลงทุนจากสถาบันต่างๆ ทั่วโลกรับทราบข้อมูลโดยตรงเกี่ยวกับประเทศไทย และทิศทางเศรษฐกิจไทยในอนาคต จากตัวแทนบริษัทจดทะเบียนต่างๆ กว่า 60 บริษัท เนื่องจากการสัมมนาในครั้งนี้ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ของเศรษฐกิจไทย ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นได้เป็นอย่างดีต่อนักลงทุนต่างชาติ

นายจรัมพร ยังกล่าวถึงการลงทุนของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2553 ถึงแม้จะเป็นปีที่ประสบปัญหาจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างล่าช้า แจะจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง แต่มีกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนในปี 2553 เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับปี 2552 และเป็นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น ถึงร้อยละ 56 ตามค่าเงินของสหรัฐฯ โดยทำสถิติมูลค่าตลาดรวมสูงสุดที่ 8,600,000 ล้านบาท หรือ 285,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นตลาดที่ทำผลงานได้ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และเป็น 1 ใน 5 ตลาดที่ทำผลงานได้ดีที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น