ปตท.เปิดแผน 5 ปี เน้นลงทุนนอก เพิ่มสัดส่วนเป็น 30% โดยใช้ ปตท.อินเตอร์ฯ เป็นหัวหอก ตั้งเป้ารายได้แตะ 3.5 ล้านล้านบาท “ประเสริฐ” ฟุ้งรายได้ปีนี้ ฟาดเบาะๆ แค่ 2.2 ล้านล้านบาท ชี้ สถานการณ์ “ลิเบีย” กระทบน้ำมันโลกปรับขึ้นอีก 20 ดอลลาร์ ส่วนโรงไฟฟ้า “ฟูกุชิมะ” เสียหาย ดันราคาน้ำมันตลาดสิงคโปร์ยืนเหนือ 130 ดอลลาร์ กระทบต้นทุนผู้ค้าไทย กองทุนน้ำมันฯ แบกส่วนต่างราคาเพื่ออุ้มดีเซล 30 บาท
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจของ ปตท.หลังสถานการณ์พลังงานโลกเปลี่ยนและแนวโน้มราคาน้ำมันที่ผันผวนอย่างหนักจากปัญหาในตะวันออกกลาง โดยระบุว่า นับจากนี้ไป ปตท.จะมีการลงทุนสูงขึ้นในต่างประเทศ โดยใช้บริษัทลูกเป็นหัวหอกในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะเน้นการร่วมลงทุนเป็นหลัก
ดังนั้น ในแต่ละงานประชุมด้านพลังงานทั้งในและต่างประเทศทางกลุ่ม ปตท.จะแสดงถึงความพร้อมของกลุ่มในการร่วมลงทุน โดยในงานประชุมวิชาการและนิทรรศการด้านก๊าซธรรมชาติ หรือก๊าซเทค 2011 ทางกลุ่ม ปตท.ทั้งบริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน), บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด และบริษัท พีทีที อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จึงแสดงศักยภาพการดำเนินธุรกิจก๊าซธรรมชาติแบบครบวงจร รวมถึงความพร้อมของไทยในการร่วมทุนกับพันธมิตรต่างประเทศ เพื่อพัฒนาตลาด ตลอดสายโซ่ทางธุรกิจก๊าซธรรมชาติ (LNG) หรือ Liquefied Natural Gas และแสวงหาแหล่งก๊าซธรรมชาติใหม่ๆ ในต่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ
ทั้งนี้ กลุ่ม ปตท.ตั้งเป้าหมายเพิ่มรายได้ของกลุ่ม ปตท.ในระยะ 5 ปีข้างหน้า จะมีสูงถึง 3.5 ล้านล้านบาท ในขณะที่ปี 2554 คาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งในปี 2553 ปตท. มีรายได้ประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท เนื่องจากกลุ่มมีการลงทุนที่เพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ
“กลุ่ม ปตท.คาดว่า รายได้ของกลุ่มทั้งหมดใน 5 ปีข้างน้า จะอยู่ที่ 3.5 ล้านล้านบาท จะมาจากสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศร้อยละ 30 และจะเพิ่มขึ้นมีสัดส่วนเป็นร้อยละ 50 ภายใน 10 ปีข้างหน้า ซึ่งการไปเติบโตนอกประเทศ ถือเป็นสิ่งสำคัญ นับจากนี้ไป โดยจะมี ปตท.อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นหัวหอกลงทุน ในขณะที่ ปตท.สผ. จะเน้นเรื่องการร่วมทุนผลิตและสำรวจแหล่งปิโตรเลียม ซึ่งไทยจะมีการนำเข้าพลังงานเพิ่มขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ การร่วมทุนก็จะทำให้ไทยได้ความเป็นเจ้าของร่วมกัน และได้รับรายได้จากการลงทุนร่วมด้วย”
- ชี้ ราคาน้ำมันโลก ส่อผันผวนต่อเนื่อง
สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมันโลก นายประเสริฐ มองว่า ขณะนี้ราคาพลังงานได้รับผลกระทบต่อกรณีอุบัติภัยในญี่ปุ่น และผลกระทบการชุมนุมประท้วงในประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ซึ่งกรณีหลังแม้การกำหนดเขตห้ามบินในลิเบียจะประสบผลสำเร็จ แต่จากการชุมนุมในอีกหลายประเทศ จะเป็นความเสี่ยงด้านราคาน้ำมันที่บวกเพิ่มไปอีก 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ทั้งนี้ หากเหตุการณ์ดังกล่าวยังไม่สงบ ทั่วโลกก็จะยังแบกรับภาระราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นนี้ต่อไป ส่วนกรณีของญี่ปุ่นแม้โรงกลั่นหลายแห่งรวมกำลังผลิตประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จะหยุดผลิต แต่ก็คาดว่า สถานการณ์จะเป็นแค่ชั่วคราว และจะกลับมาผลิตได้อีกในเร็วๆ นี้
ขณะที่ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะไม่สามารถผลิตได้นับพันเมกะวัตต์ อาจจะทำให้โรงไฟฟ้าญี่ปุ่นหันมาซื้อน้ำมันสำเร็จรูป นำไปผลิตไฟฟ้าทดแทนนิวเคลียร์ ส่งผลต่อราคาในตลาดโลกโดยเฉพาะราคาในตลาดสิงคโปร์ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ราคาดีเซลนั้นสูงกว่า 130 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และมีผลต่อต้นทุนของไทย ทั้งในแง่ของผู้ค้าและเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จากการที่รัฐบาลมีนโยบายดูแลราคาดีเซลในไทยไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร จนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2554 ซึ่งทาง ปตท.ก็พร้อมจะปฏิบัติตาม
“ในขณะนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีวงเงินดูแลราคาดีเซลได้ในระยะสั้นตามนโยบายของรัฐบาลจนถึงสิ้นเดือนเมษายน แต่ในระยะกลางและยาวแล้ว เราไม่ควรจะเข้าไปอุ้มราคาพลังงานมากเกินไป ซึ่งเรื่องนี้คงจะต้องขึ้นกับนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะดำเนินการอย่างไร” นายประเสริฐ กล่าว
นายประเสริฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากปัญหาโรงกลั่น โรงงานปิโตรเคมี โรงงานอะโรเมติกส์ของญี่ปุ่น ต้องปิดลงคิดเป็นกำลังผลิตร้อยละ 30 ของการผลิตในญี่ปุ่น หรือร้อยละ 3 ถึง 4 ในเอเชีย และร้อยละ 1 ของโลก ก็มีผลทำให้ราคาปิโตรเคมีในขณะนี้ขยับสูงขึ้น ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมาก เพราะญี่ปุ่นนำเข้าน้ำมันดิบน้อยลง
กรณีดังกล่าวส่งผลในระยะสั้นทำให้มาร์จิ้นของกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเลียม-ปิโตรเคมีดีขึ้น และทำให้ราคาหุ้นกลุ่มนี้ขยับขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม คาดคงเป็นระยะสั้นเท่านั้น เพราะเมื่อญี่ปุ่นกลับมาเดินเครื่องผลิตได้แล้ว เหตุการณ์ก็คงจะกลับสู่ปกติและราคาปิโตรเคมีก็จะลดลง