xs
xsm
sm
md
lg

“ฟูกุชิมะ” เขย่าแผน “พีดีพี” เน้นพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ สั่ง ปตท.ศึกษาครบวงจร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประเสริฐ บุญสัมพันธ์
“พลังงาน” ชี้ วิกฤตโรงไฟฟ้า “ฟูกุชิมะ” ทำโครงสร้างพลังงานโลกเปลี่ยน เผย ที่ประชุม “ก๊าซเทค” จากทั่วโลก ประเมินผลกระทบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถูกเขี่ยทิ้งจากสารบบ หันมาให้ความสำคัญเชื่อเพลิงก๊าซเพิ่มขึ้น “ณอคุณ” เล็งปรับแผน “พีดีพี” 2010 เน้นพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ สั่ง ปตท.ศึกษานำเข้าแอลเอ็นจีเพิ่มขึ้น หากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์-ถ่านหิน ไม่สามารถก่อสร้างได้ คาดมีดีมานด์ก๊าซเพิ่มอีก 2,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ทำให้ต้องนำเข้าถึง 60% “บิ๊กไฝ” โชว์ความพร้อมธุรกิจก๊าซครบวงจร ในเวทีนานาชาติ

นายณอคุณ สิทธิพงษ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในระหว่างเข้าร่วมการประชุมวิชาการและนิทรรศการระดับโลกในอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติ ครั้งที่ 25 (GASTECH 2011) ระหว่างวันที่ 21-24 มีนาคม 2554 ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยระบุว่า จากผลกระทบของอุบัติภัยในญี่ปุ่น ที่ประชุมก๊าซเทคครั้งนี้ให้ความสำคัญ และเห็นว่า ในเรื่องของผลกระทบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จะทำให้ทั่วโลกหันมาใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

โดยในส่วนของไทยนั้น อาจจะต้องมีการปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว 20 ปี (พีดีพี) 2010 ใหม่ คาดว่า จะปรับเสร็จสิ้นในไตรมาส ที่ 2 โดยจะต้องมองถึงกรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ตามแผน 5 โรง กำลังผลิตโรงละ 1,000 เมกะวัตต์ รวม 5,000 เมกะวัตต์ จะเกิดได้หรือไม่ และยังต้องมองถึงโรงไฟฟ้าถ่านหิน 9 โรง โรงละ 800 เกมะวัตต์ หากไม่สามารถสร้างได้เพราะมีการต่อต้านจากประชาชนเป็นจำนวนมาก แล้วประเทศไทยต้องทำอย่างไร

ดังนั้น ทางเลือกที่รัฐบาลอาจจะต้องดำเนินการ คือ สั่งให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ศึกษาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ระยะที่ 2 ให้เร็วขึ้น ซึ่งการดำเนินการจะต้องทำควบคู่กับการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพด้วย

ด้าน นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. กลุ่ม ปตท.ประกอบด้วย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด และ บริษัท พีทีที อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เข้าร่วมงาน GASTECH 2011 แสดงศักยภาพการดำเนินธุรกิจก๊าซธรรมชาติแบบครบวงจร

นอกจากนี้ ยังแสดงถึงความพร้อมของไทยในการร่วมทุนกับพันธมิตรต่างประเทศ เพื่อพัฒนาตลอดสายโซ่ธุรกิจ LNG (Liquefied Natural Gas) และแสวงหาแหล่งก๊าซธรรมชาติใหม่ๆ ในต่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ อาทิ แหล่งก๊าซจากชั้นหินทราย (Tight Gas และ Shale Gas) และถ่านหิน (Coal Bed Methane) ซึ่งนับเป็นทิศทางสำคัญในอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติระหว่างประเทศในยุคเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low-carbon economy) นับจากนี้ไป

การเข้าร่วมงาน GASTECH 2011 ครั้งนี้ ยังเป็นเวทีให้ กลุ่ม ปตท.ได้พบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติ กับผู้แทนบริษัทชั้นนำในธุรกิจ รวมทั้งยังเป็นโอกาสในการพัฒนาความรู้ด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงสถานการณ์ธุรกิจก๊าซธรรมชาติทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการกำหนดนโยบายเชิงกลยุทธ์ เพื่อพัฒนาต่อยอดธุรกิจก๊าซธรรมชาติของไทยให้เติบโตแข็งแกร่ง สร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ งาน GASTECH 2011 นี้ เป็นงานประชุมวิชาการและนิทรรศการเกี่ยวกับก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเป็นเวทีที่บริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติทั่วโลกเดินทางมาร่วมประชุมเพื่อแสวงหาความร่วมมือในการพัฒนาธุรกิจก๊าซธรรมชาติร่วมกัน รวมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ รวมถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นทุก 2 ปี

นายประเสริฐ กล่าวเสริมว่า คลังแอลเอ็นจีของ ปตท.ซึ่งมีวงเงินลงทุน 700-800 ล้านดอลลาร์ พร้อมจะรับแอลเอ็นจี ในเดือนพฤษภาคม 2554 นี้ โดยในขณะนี้ บอร์ด ปตท.ได้อนุมัติให้รับซื้อแอลเอ็นจีราคาตลาดจร เพื่อมาทดสอบการใช้คลังจาก 2 รายจะเริ่มจำนวน 4 ลำเรือ แล้ว หลังจากนี้จะเปิดการรับข้อเสนอซื้อราคาตลอดจรอีก 3 ปีครึ่ง หรือ รวม 3.5 ล้านตัน หลังจากนั้นจึงจะทำสัญญาการรับซื้อระยะยาว

“ต้องยอมรับว่า การเกิดปัญหาในญี่ปุ่น การใช้ก๊าซเป็นแหล่งพลังงานใหม่จะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทาง ปตท.จะต้องศึกษาลู่ทางการจัดหาให้เพิ่มขึ้นและเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศ โดยกลุ่ม ปตท.จะหาลู่ทางร่วมลงทุน ในแหล่งก๊าซต่างๆ เหล่านั้นด้วย”

ทั้งนี้ คลังแอลเอ็นจี ของ ปตท.มีความสามารถในการรับก๊าซ 10 ล้านตัน โดยตามแผนเดิม เฟสแรกจะครบ 5 ล้านตัน ในปี ค.ศ.2020 และ เพิ่มเป็น 10 ล้านตัน ในปี ค.ศ.2021 เป็นต้นไป โดยตามแผนพีดีพี 2010 เดิมนั้น หากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์-ถ่านหินเกิดตามแผน ความต้องการใช้ก๊าซฯ จะมีเริ่มคงที่ ในปี ค.ศ.2020-2030 ในปริมาณ 5,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งสัดส่วนการใช้ก๊าซฯ เพื่อผลิตไฟฟ้าจะลดลงจากร้อยละ 66 เหลือร้อยละ 39 แต่จากนโยบายของกระทรวงพลังงานให้ศึกษาการนำเข้าแอลเอ็นจีเพิ่มเติม

ในขณะนี้ได้ตั้งสมมติฐานว่า หากไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในไทยแล้ว ในปี ค.ศ.2018-2030 การใช้ก๊าซจะเพิ่มเป็น 6,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน การใช้ก๊าซจะมีสัดส่วนถึงร้อยละ 66 แต่หากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และถ่านหินไม่เกิดแล้ว การใช้ก๊าซจะเพิ่มเป็น 7,000 ล้านลูกบาศ์กฟุตต่อวัน สัดส่วนการใช้ก๊าซจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 71 และจากก๊าซในอ่าวไทยลดลง การใช้ก๊าซในอ่าวไทยและพม่าจะมีปริมาณ 3,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ต้องนำเข้าแอลเอ็นจี 4,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือไทยต้องพึ่งการนำเข้า ถึงร้อยละ 60 และคงจะต้องมีการสร้างคลังแอลเอ็นจี แห่งที่ 2 ในปี ค.ศ.2015 หรือคงจะต้องเร่งสร้างให้เร็วขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น