“มาร์ค” นั่งหัวโต๊ะประชุม กรอ.ฟังรายงานสรุปผลกระทบภัยพิบัติญี่ปุ่น คาดเป็นเหตุการณ์ระยะสั้น ไม่กระทบภาพรวม ศก.ไทย แต่ผลกระทบในภาคอุตฯ ยังไม่ชัดเจน ต้องรอดูไปอีกสักระยะหนึ่ง ผู้ว่าฯ ธปท.เชื่อภาคลงทุนไม่กระทบ รมว.อุตฯ เผย นายกฯ สั่งศึกษาเพิ่มปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ ขีดเส้นใน 1 เดือน ด้านประธาน ส.อ.ท.มั่นใจไทยเป็นฐานผลิตรถยนต์แทนญี่ปุ่น
นายธราดล เปี่ยมพงษ์สานต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ (กรอ.) ที่มี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้รับทราบการประเมินผลกระทบจากเหตุภัยพิบัติในญี่ปุ่นต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งพบว่าในภาพรวมมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยไม่มากนัก เป็นแค่สถานการณ์ช่วงสั้นๆ เท่านั้น
โดยอุตสาหกรรมที่อาจจะได้รับผลกระทบ คือ กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนชิ้นส่วน-อะไหล่จากญี่ปุ่น เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์, อุตสาหกรรมเหล็ก และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีสตอกการผลิตประมาณ 1 เดือน โดยในส่วนของอุตสาหกรรมรถยนต์นั้น อาจทำให้กำลังผลิตรถยนต์ลดลงสัปดาห์ละ 5,000 คัน
ทั้งนี้ กรอ.ได้แสดงความเป็นห่วงการส่งออกสินค้ายางพารา ซึ่งเป็นผลพวงจากอุตสาหกรรมรถยนต์ที่อาจจะได้รับผลกระทบ และการส่งออกกล้วยไม้ที่ต้องย้ายจากสนามบินนาริตะไปลงที่อื่น
ส่วนภาคการท่องเที่ยว คาดว่า ได้รับผลกระทบในระยะ 3-6 เดือน ทำให้นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่จะเดินทางมาไทยลดลง 1.8 แสนคน จากปกติที่มีนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเดินทางเข้าไทยปีละ 1 ล้านคน หรือคิดเป็นลดลง 16%
นอกจากนี้ ภาครัฐยังได้เฝ้าระวังปัญหาการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีใน 3 ด้าน คือ จากทางอากาศ, จากทางอาหาร และจากคน โดยทางอากาศ ได้มอบหมายให้กรมอุตุนิยมวิทยาจัดตั้งเครื่องตรวจสภาพอากาศ 8 จุดทั่วประเทศ ส่วนทางอาหาร ได้มอบหมายให้องค์การอาหารและยา (อย.) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เข้าไปสุ่มตรวจสินค้าอาหารและผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากญี่ปุ่น ส่วนการปนเปื้อนจากคน รวมทั้งระบบปรับอากาศบนเครื่องบินนั้น จะให้การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) ไปดูแลร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
นายธราดล ยังกล่าวถึงปัญหาเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นว่า ขณะนี้สถานการณ์ได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้จับตาดูอย่างใกล้ชิด
**ธปท.ชี้ กระทบระยะสั้น-ลงทุนไม่มีผล
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท.เปิดเผยภายหลังรายงานผลกระทบทางเศรษฐกิจของไทยจากเหตุภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่นต่อที่ประชุม กรอ.โดยระบุว่า ในวันนี้ ตนเองได้รายงานต่อที่ประชุม กรอ.ซึ่งมองว่า ในระยะสั้นภาคการส่งออกของไทยคงจะได้รับผลกระทบบ้าง ซึ่งอาจจะเป็นเซกเตอร์ (Sector) ที่อาศัยอะไหล่ชิ้นส่วน หรือในส่วนที่ต้องมีการค้าขายกับโรงงานที่ญี่ปุ่นโดยตรง แต่ในส่วนของการลงทุนขณะนี้ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก
ส่วนระยะยาวก็ต้องรอดูต่อไป เพราะขณะนี้สถานการณ์ยังไม่นิ่ง ยังมีปัจจัยในเรื่องของกัมมันตภาพรังสีที่ประเมินสถานการณ์ไม่ได้ และมีผลกระทบอยู่
“การประเมินผลกระทบทั้งหมด คิดว่า เร็วเกินไป เพราะข้อมูลหลายส่วนยังไม่นิ่ง ยังมีปัจจัยอื่นเข้ามา เช่นในเรื่องการแพร่กระจายของกัมมันตรังสี”
สำหรับการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ไม่น่าจะเกิดจากผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ญี่ปุ่น แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นไปตามปัจจัยพื้นฐาน โดยเป็นไปตามเสถียรภาพการเติบโตของประเทศไทยเปรียบเทียบกับประเทศ G-3 มากกว่า เรื่องญี่ปุ่นไม่น่าจะมีผลกระทบมากนัก
ส่วนจังหวะที่ค่าเงินเยนแข็งค่า เป็นลักษณะของการเก็งกำไรมากกว่า พร้อมมองว่า ลักษณะของ Capital Flow ยังปกติ อย่างไรก็ตาม ธปท.จะติดตามการอัดฉีดเงินเข้าระบบของรัฐบาลญี่ปุ่นว่าจะส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาท หรือไม่อย่างไร
“ก็ต้องติดตามช่วงนี้มีเหตุจำเป็นเพราะว่าเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ ธนาคารกลางก็ต้องติดตามดูแลสถานการณ์ เดิมมีการคาดการณ์ว่า บริษัทประกันภัยญี่ปุ่นคงต้องขายพันธบัตรต่างประเทศเพื่อนำเงินมาชดเชยความเสียหาย แต่ข้อมูลล่าสุด บริษัทประกันภัยมีพันธบัตรในรูปเงินเยนเพียงพอ ประกอบกับบริษัทประกันภัยหลายบริษัทมีข้อตกลงกับรัฐบาลญี่ปุ่น ว่า ถ้าหากมีความเสียหายเกินขีดจำกัด เขาก็มีระบบ re-insurance จึงทำให้แรงกดดันของบริษัทประกันที่จะขายพันธบัตรต่างประเทศเพื่อเอาเงินกลับเข้ามา จึงน้อยกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้”
ประกอบกับ กลุ่มประเทศ G-7 ได้มีการร่วมมือกันทำให้แรงกดดันที่เงินเยนแข็งค่าเมื่อเทียบดอลลารมีไม่สูงอย่างที่คาดไว้
พร้อมกันนี้ ยืนยันว่า สถาบันการเงินของไทยที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งสถาบันการเงินญี่ปุ่นในไทยก็ไม่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน แต่ ธปท.พร้อมดูแลและให้ความยืดหยุ่นหากมีความจำเป็น
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้รายงานต่อที่ประชุม กรอ.ว่าเหตุการณ์สึนามิในญี่ปุ่นอาจมีผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปีนี้ 0.1% แต่ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นในระยะสั้นและไม่น่าจะมีผลกระทบต่อ GDP โดยเชื่อว่าจะมีสถานการณ์อื่นเข้ามาช่วยชดเชยผลกระทบในจุดนี้ได้ แต่อย่างไรก็ดี ยังคงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจับตาเหตุการณ์ในญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด
**นายกฯ สั่งปรับโครงสร้างภาษีรถใน 1 เดือน
นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ได้มีการหารือในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหารือร่วมกันเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างภาษีอุตสาหกรรมรถยนต์ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน
สำหรับแนวทางการปรับโครงสร้างภาษีจะคำนึงถึง 3 หลักการ ดังนี้ การเป็นรถยนต์ประหยัดพลังงาน รถยนต์ที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อย และรถยนต์ที่ความปลอดภัย หากผู้ผลิตรายใดมีคุณสมบัติดังกล่าวจะได้สิทธิประโยชน์ภาษีเพิ่มเติม
“ยืนยันว่า จุดนี้ไม่ใช่มาตรการกีดกันทางการค้า แต่เป็นทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์โลก เพราะไม่ใช่ข้อกำหนดบังคับ แต่เป็นเรื่องสิทธิประโยชน์ โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก”
ส่วนข้อเสนอที่จะให้นำกฎเกณฑ์ใหม่มาใช้ใน 2-3 ปีข้างหน้า มีเอกชนทั้งที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย คนที่ไม่เห็นด้วยอาจจะเป็นเพราะเสียประโยชน์เรื่องการแข่งขัน แต่สิ่งสำคัญที่รัฐบาลดำเนินการเชื่อว่าจะมีกรอบระยะเวลาที่ทำให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวได้ทัน
**ส.อ.ท.ยันเอกชนยืนเองได้ คาดไทยเป็นฐานผลิต
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวเสริมว่า เหตุภัยพิบัติทำให้ซัพพลายเออร์ผู้ผลิตรถยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์หยุดหลายโรงงาน ส่งผลให้ยอดส่งออกรถยนต์ของไทยในเดือนมีนาคม ชะลอตัว โดยเป็นผลจากชิ้นส่วนไม่เพียงพอ ส่งผลกระทบต่อการผลิตเพื่อส่งออก แต่ในส่วนของคำสั่งซื้อ ยังไม่ลดลง
ทั้งนี้ ภาคเอกชนมองว่า ภาครัฐไม่จำเป็นต้องหามาตรการช่วยเหลือ เพราะเชื่อว่าจะเป็นเหตุการณ์ระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งขณะนี้ภาคเอกชนยังไม่สามารถประเมินผลกระทบว่ามากน้อยแค่ไหน เชื่อว่าเอกชนจะสามารถปรับตัวได้ ทั้งนี้ มองว่า ไทยจะเป็นฐานในการผลิตรถยนต์แทนประเทศญี่ปุ่น ที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ