นายกฯ แจงภาวะสินค้าแพง เพราะต้นทุนพุ่งสูงขึ้นทุกด้าน พร้อมพิจารณาให้ขึ้นราคาเป็นรายกรณี ลั่นเดินหน้าเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 25% ใน 2 ปี หวังปรับโครงสร้าง ศก.ลดความเหลื่อมล้ำ แต่จะช่วยผู้ประกอบการลดต้นทุน โดยปรับระบบภาษีให้แทน ส่วนผลโหวตได้ต่ำกว่า “เจ๊วา” ไม่รู้สึกน้อยใจ พร้อมเดินหน้าทำงานต่อไป
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงราคาสินค้าที่เพิ่มสูงในขณะนี้ โดยระบุว่า ตนเองได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ไปดูแลการควบคุมราคาสินค้า ซึ่งยอมรับราคาต้นทุนแพง ก็ต้องเพิ่มราคาสินค้า และจะให้ขายเท่าทุนไม่ได้ เพราะจะเป็นภาระต่อประชาชน ขณะเดียวกัน ต้องอิงกับราคาตลาดโลกด้วย อย่างไรก็ตาม หากสินค้าใดต้องขึ้นราคา ก็ต้องดูเป็นรายสินค้าไป
ส่วนกรณีที่ นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เสียงสนับสนุนถึง 251 เสียง หลังการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ วานนี้ ซึ่งมากกว่านายกรัฐมนตรี และ นายสุเทพ เทือกสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ลงมติไปก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ไม่ใช่เรื่อแปลกอะไร โดยตนเองจะขอเดินหน้าทำงานต่อไป โดยเฉพาะเรื่องปากท้องที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างต่อเนื่องจากปัญหาค่าครองชีพ
“ผมได้ชี้แจงถึงสถานะภาพรวมของประเทศ การเงินการคลัง ฐานะของกองทุนน้ำมัน และแนวทางการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท การประกันรายได้เกษตรกร การปรับค่าจ้างแรงงาน”
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้ไปชี้แจงในงานที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดขึ้นเมื่อวานนี้ โดยยืนยันว่า รัฐบาลมีความตั้งใจในการเพิ่มค่าแรงเพื่อสู้กับของแพงแล้ว ยังเป็นการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจด้วย เพราะว่าจะเป็นแนวทางที่ทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศมีความเข้มแข็งและเกิดความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งจะต้องควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพ ผลิตผลของแรงงาน และจะต้องดูแลการให้ความมั่นใจในการลดต้นทุนอื่นได้ ซึ่งจะรวมไปถึงการปรับระบบภาษี เช่นภาษีเงินได้นิติบุคคล เพื่อให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้ ในขณะเดียวกัน ผู้ใช้แรงงานก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนเรื่องระบบสวัสดิการต่างๆ
ทั้งนี้ รัฐบาลเตรียมปรับโครงสร้างภาษี ด้วยการลดภาษีนิติบุคคล เพื่อชดเชยกับการแลกให้ผู้ประกอบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ตามนโยบายของรัฐบาลที่จะปรับขึ้นค่าแรงร้อยละ 25 ภายใน 2 ปี
สำหรับนโยบายด้านอุตสาหกรรม นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลจะเดินหน้าขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม รองรับการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขัน โดยจะเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจะมีการร่างกฎหมายที่แม่สอด และจัดทำเขตเศรษฐกิจพิเศษการเกษตร ที่จะมีแผนทำขึ้นในภาคอีสาน ในพื้นที่เพาะปลูกข้าวหอม