xs
xsm
sm
md
lg

ออเดอร์อาหารส่งญี่ปุ่นทะลัก ผู้ประกอบการเร่งหา “วัตถุดิบ-เพิ่มผลิต”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ญี่ปุ่นสั่งนำเข้าอาหารไทยเพียบ รับมือประชาชนขาดแคลนอาหาร “ซีพีเอฟ” ระบุคู่ค้าออเดอร์ด่วน “ไก่ปรุงสุก กุ้ง อาหารพร้อมทาน” “พีเอฟพี” จ่อส่งออกเนื้อปลาบดเพิ่ม 20% หวั่นวัตถุดิบอาหารทะเลอาจขาดแคลน หลังสารกัมมันตภาพรังสีปนเปื้อนน่านน้ำ “ยูเอฟพี” เตรียมผลิตสินค้าเพิ่มแทนเคียวคุโยะ หลังต้องปิดโรงงานที่เซนได

นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า จากการที่ญี่ปุ่นประสบแผ่นดินไหวและเกิดสึนามิถล่มเมืองเซนได รวมถึงโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์เกิดระเบิด เกิดการแพร่กระจายสารกัมมันตภาพรังสีที่ก่อให้เกิดอันตราย ส่งผลให้โรงงานต่างๆ งดการผลิตสินค้า โดยเฉพาะผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะนี้บริษัทเองได้รับการติดต่อกับคู่ค้าประเทศญี่ปุ่น ต้องการสั่งสินค้ากลุ่มอาหาร อาทิ ไก่ปรุงสุกและกุ้ง รวมทั้งกลุ่มอาหารพร้อมรับประทานของซีพีเอฟเพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนกับอาหารที่ขาดแคลน รวมทั้งอาหารทะเลที่ไม่สามารถรับประทานได้

ล่าสุด บริษัทได้ทยอยส่งสินค้าบางส่วนไปแล้ว และคาดว่า จะมีออเดอร์เพิ่มขึ้นไตรมาสที่ 2 เพราะเวลานี้ ประเทศญี่ปุ่นประสบกับปัญหาการแพร่กระจายสารกัมมันตภาพรังสี ทำให้การบริโภคอาหารทะเลต้องชะลอตัวลง ทั้งนี้ บริษัทประเมินสถานการณ์การส่งออกสินค้าไปญี่ปุ่นปีนี้ ยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และผลจากการเกิดสึนามิไม่ได้ส่งกระทบต่อการส่งออกของบริษัทแน่นอน จากปัจจุบันญี่ปุ่น ถือว่าเป็นประเทศที่สร้างรายได้ด้านการส่งออก สัดส่วน 30-35% โดยแบ่งเป็น การส่งออกไก่ปรุงสุกและกุ้งสัดส่วน 80-90% อีก 10% เป็น อาหารพร้อมรับประทาน

**PFP ชี้ญี่ปุ่นฟื้นออร์เดอร์เพิ่ม 20%

นางสาวเมตตา ปราบสุธา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท พี.เอฟ.พี.เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารแปรรูปแช่แข็งจากเนื้อปลาภายใต้แบนด์พีเอฟพี กล่าวว่า หากประเทศญี่ปุ่นฟื้นตัว ซึ่งคาดว่าใช้เวลา 1 เดือน จะมีการสั่งซื้ออาหารทะเลแช่แข็งเพิ่มขึ้น เพราะในประเทศจะขาดแคลน โดยเฉพาะอาหารทะเล เนื่องจากน่านน้ำญี่ปุ่นยังไม่สามารถจับสัตว์น้ำ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้ส่งออกเนื้อปลาบด และอาหารพร้อมรับประทานไปญี่ปุ่น คาดว่า จะมีออเดอร์เพิ่ม 20% หลังจากที่ประเทศญี่ปุ่นฟื้นตัว

ทั้งนี้ การส่งออกอาหารเข้าประเทศญี่ปุ่น มีมาตรการตรวจสอบที่เข้มงวดมากกว่าเดิม เพราะเกรงว่าจะมีสารปนเปื้อน และหลังจากที่ญี่ปุ่นสั่งสินค้าเพิ่ม แต่จากนั้นการสั่งซื้อสินค้าจะชะลอตัวลง เพราะการเกิดสึนามิในครั้งนี้ ทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นไม่เติบโตกำลังการซื้อของคนก็ลดลง ส่วนคู่ค้าของบริษัทซึ่งมีโรงงานอยู่เมืองเซนไดได้รับความเสียหาย ท่าเรือก็ยังใช้การไม่ได้

นางสาวเมตตา กล่าวว่า แม้ว่าญี่ปุ่นจะมีออร์เดอร์เพิ่มขึ้นในระยะสั้นๆ แต่ปัญหา คือ บริษัทจะมีวัตถุดิบป้อนให้กับญี่ปุ่นเพียงพอหรือไม่ โดยขณะนี้วัตถุดิบขาดแคลนแน่นอน เพราะน่านน้ำในประเทศญี่ปุ่นก็มีสารเคมีกัมมันตภาพรังสี อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นนับว่าเป็นตลาดส่งออกหลัก สร้างรายได้สัดส่วน 40% จากรายได้การส่งออก 2,200 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าปีนี้รายได้ส่งออกประเทศญี่ปุ่น 880 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 40% หรือไม่มีการเติบโต ดังนั้นบริษัทเตรียมแผนรองรับหาคู่ค้าประเทศญี่ปุ่นในเมืองอื่นๆ เพื่อทดแทนกับเมืองที่ประสบภัยสึนามิและแผ่นดินไหว

**ยูเอฟพีจ่อผลิตแทนเคียวคุโยะ

นายอนุรัตน์ โค้วคาสัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาดและปฏิบัติการ บริษัท ยูเนียน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด หรือยูเอฟพี กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างการเตรียมพร้อมในการเพิ่มกำลังการผลิตที่จะรับช่วงต่อจาก พันธมิตรคือกลุ่มเคียวคุโยะ ญี่ปุ่น ที่ไม่สามรถผลิตสินค้าได้แล้ว เนื่องจากได้รับผลกระทบต้องปิดโรงงานที่เมืองเซนได อันเนื่องมาจากผลกระทบของสึนามิและแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น

บริษัทได้เริ่มลงทุนเป็นพันธมิตรกับทางเคียวคุโยะผลิตกุ้งชุบแป้งทอด 2-3 ปีแล้ว ที่สมุทรสาคร หลังจากที่เคียวคุโยะได้ขยายฐานการผลิตนอกญี่ปุ่นมากขึ้น โดยไทยผลิต 50% ญี่ปุ่นผลิต 50%

ขณะนี้รอการสรุปว่าญี่ปุ่นจะให้เราช่วยเหลือในการผลิตแทนให้ก่อนหรือไม่ หากสรุปเราก็พร้อมภายใน 7 วัน ซึ่งเราต้องช่วยเหลือกัน เพราะพันธมิตรเราได้รับความเดือดร้อน และคาดวาาทางญี่ปุ่นจะสามารถแก้ไขปัญหาและกลับมาผลิตได้ภายใน 2 เดือนจากนี้ โดยมูลค่าที่เราผลิตให้ประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อส่งกลับไปที่สำนักงานใหญ่ที่ญี่ปุ่นเพื่อกระจายต่อให้กับซูเปอร์มาร์เก็ตซึ่งเคียวคุโยะเป็นผู้ผลิตอาหารทะเลรายใหญ่ 1 ใน 3 ของญี่ปุ่น ส่วนโรงงานในเมืองอื่นของเคียวคุโยะยังผลิตตามปกติ

โดยบริษัทคาดว่าจะเพิ่มอีก 1 กะ จากเดิมมี 1 กะ กำลังคนประมาณ 150 คน ส่วนวัตถุดิบได้ติดต่อกับซัปพลายเออร์ไว้แล้วทั้ง แป้งทอด ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหา ส่วนกุ้งก็ได้เจรจาแล้วเช่นกัน เรื่องกุ้งเป็นเรื่องสำคัญเพราะว่าช่วงนี้เป็นช่วงโลว์ซีซั่นส์ของกุ้งด้วย คือ ม.ค.-พ.ค. จะมีกุ้งน้อย แต่จะมีมากช่วงเดือนมิ.ย.-ธ.ค. โดยปกติในส่วนการผลิตของเคียวคุโยะนี้เราต้องการใช้กุ้งเฉลี่ย 15-20 ตันต่อวัน ซึ่งถ้าต้องผลิตเพิ่มก็ต้องใช้กุ้งเพิ่มเป็น 30-40 ตันต่อวัน ขณะที่ยูเอฟพีเองใช้กุ้งในการผลิตประมาณ 100-120 ตันต่อวัน

ส่วนของยูเอฟพีทั้งกลุ่มนั้น ยังไม่ได้รับผลกระทบอะไรจากเหตุการณ์สึนามิที่ญี่ปุ่น แต่คาดว่าออร์เดอร์จากต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ ซึ่งในเรื่องเร่งด่วนสำคัญจากนี้ คือ การเตรียมพร้อมด้านวัตถุดิบ
กำลังโหลดความคิดเห็น