กกร.ขู่รัฐห้ามขึ้นค่าแรง ลั่นเจอปรับใช้เครื่องจักรแทนคนงานแน่ พร้อมใช้ดาบสองขึ้นราคาสินตามต้นทุนจริง อัดยับการประกาศขึ้นค่าแรงเป็นเรื่องประชานิยม ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ
มีรายงานข่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย วันนี้ (7 มี.ค.) ได้เห็นพ้องร่วมกันว่า หากรัฐบาลต้องการให้มีการปรับค่าแรงตามนโยบาย เอกชนก็ต้องปรับตัวโดยการนำเครื่องจักรมาใช้แทน ลดจำนวนแรงงานเพื่อลดต้นทุนการผลิต ส่วนอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องใช้แรงงานก็จะใช้วิธีผลักภาระนี้ไปที่การขึ้นราคาสินค้า ซึ่งประชาชนจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การขึ้นค่าแรงต้องการให้ใช้กลไกของคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (คณะกรรมการไตรภาคี) เป็นหลัก เนื่องจากเป็นกระบวนการทางกฎหมาย และเป็นที่ยอมรับ ไม่ใช่รัฐบาลออกมาประกาศว่าต้องการขึ้นค่าแรง
“ตามหลักการแล้วการพิจารณาขึ้นค่าแรงจะทำกันปีละ 2 ครั้ง ไม่ใช่ปรับขึ้นกันเรื่อยๆ โดยการขึ้นค่าแรงต้องนำปัจจัยด้านเงินเฟ้อ ความสามารถในการแข่งขัน ภาวะเศรษฐกิจโดยทั่วไปมาเป็นหลักในการพิจารณา และหากรัฐบาลต้องการเพิ่มปัจจัยด้านค่าครองชีพเข้าไปเป็นปัจจัยเสริมก็ควรจะประกาศออกเป็นหลักเกณฑ์ด้วย เพื่อความชัดเจน”
ทั้งนี้ การประกาศขึ้นค่าแรงของรัฐบาลเป็นเรื่องประชานิยมมากเกินไป ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะกระทบต่อภาคธุรกิจ ขีดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นการดึงค่าครองชีพให้สูงขึ้น รวมถึงส่งผลกระทบต่อนักลงทุน ซึ่งถือเป็นความผันผวนทางนโยบาย
ด้าน นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การประกาศขึ้นค่าแรงรัฐบาลจำเป็นต้องดูถึงกลไกต่อไปด้วยว่าขึ้นแล้วจะกระทบเงินเฟ้อมากน้อยแค่ไหน กระทบขีดความสามารถเท่าไหร่ และจะมีกระบวนการเพิ่มประสิทธิภาพอย่างไร ซึ่งต้องคิดถึงระยะยาวด้วย การประกาศออกมาเฉยๆ โดยไม่มีการเชื่อมโยงหรือแผนการรองรับ ทำให้เอกชนไม่รู้ว่ารัฐบาลคิดอะไร มีเป้าหมายอะไร และนำมาวางแผนไม่ได้