xs
xsm
sm
md
lg

“พลังงาน” สยบข่าวขึ้นราคาดีเซล วอนผู้ใช้เบนซินเสียสละเพื่อ ศก.ส่วนรวม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รมว.พลังงาน สยบข่าวดีเซลในประเทศจ่อปรับขึ้น พร้อมส่งสัญญาณสัปดาห์นี้ ราคาน้ำมันโลกเป็นช่วงขาลง พร้อมโต้นำเงินกองทุนน้ำมันฯ ไปอุดหนุนราคาดีเซล ไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้เบนซิน วอนให้มองในภาพรวม ศก.ของประเทศ เพราะผู้ใช้เบนซินยังมีทางเลือกใช้แก๊สโซฮอล์ ในราคาถูก พร้อมจับมือ ก.อุตฯ ผุดโครงการดึงรถโดยสารขนาดใหญ่ ใช้เอทานอล แทนดีเซล นำร่อง 1,000 คัน เพิ่มการใช้เอทานอลวันละ 1 แสนลิตร

นายแพทย์ วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันในประเทศ หลังกระแสข่าวผู้ค้าเตรียมปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซล โดยระบุว่า แนวโน้มราคาน้ำมันตลาดโลกในช่วง 1-2 วันนี้ เริ่มปรับลดลง ส่งผลให้การดูแลรักษาระดับราคาน้ำมันดีเซลคลายความกังวลลงได้บ้าง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวเสริมว่า การปรับตัวลงของน้ำมันในตลาดโลกดังกล่าว คาดว่า สัปดาห์นี้จะไม่เข้าไปเพิ่มอัตราการชดเชยราคาดีเซลอีก ซึ่งราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกปรับลดลงมาอยู่ที่ 107 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากก่อนหน้านี้ อยู่ที่ระดับ 109 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ทั้งนี้ เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจำนวน 5,000 ล้านบาท ที่จัดสรรไว้ดูแลราคาดีเซล จะใช้ให้หมดตามการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมัน ซึ่งขณะนี้ยังสามารถใช้ดูแลราคาดีเซลได้ประมาณ 20 กว่าวัน แต่ถ้าหลังจากนี้ เมื่อใดที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลงต่อเนื่องติดต่อกัน ทางภาครัฐก็จำเป็นต้องทยอยเก็บเงินคืนจากผู้ใช้ดีเซลให้กับกองทุนน้ำมันฯ เพื่อสะสมเป็นรายได้ และรักษาเสถียรภาพของกองทุนน้ำมันฯ

ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า การนำเงินกองทุนน้ำมันฯ ไปอุดหนุนราคาดีเซล สร้างความไม่เป็นธรรมให้กับผู้ใช้เบนซินนั้น ยืนยันว่า การเข้าไปรักษาระดับราคาน้ำมันเป็นการมองในภาพรวมเพื่อไม่ให้กระทบต่อเศรษฐกิจ ประกอบกับกลุ่มผู้ใช้น้ำมันเบนซินยังมีแก๊สโซฮอล์ ซึ่งมีราคาถูกกว่าน้ำมันเบนซินเป็นทางเลือกอยู่แล้ว ไม่อยากให้มองในประเด็นขัดแย้ง

อย่างไรก็ตาม กรณีบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ได้ยกเลิกการจำหน่ายดีเซล บี5 ไปนั้น เพราะต้องการช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนปาล์มน้ำมัน เนื่องจากช่วยประหยัดการใช้ปาล์มน้ำมันได้ 1.2 ล้านลิตรต่อวัน ขณะเดียวกันหากสถานการณ์กลับคืนภาวะปกติ ก็สามารถกลับมาจำหน่าย บี5 ได้

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ในช่วงนี้ปาล์มน้ำมันมีปัญหาขาดแคลน มีข้อเสนอให้พิจารณาประกาศดีเซลเกรดเดียว โดยให้กำหนดช่วงระหว่างการผสมไบโอดีเซล 3-5% ไม่ได้ประกาศออกมาว่าเป็น บี4 หรือ บี5 ซึ่งเรื่องดังกล่าวในทางปฏิบัติยอมรับว่าทำได้ยากเพราะต้องมีการคำนวณอัตราการชดเชยราคาน้ำมัน ที่มีความแตกต่างกันอีก คงต้องใช้เวลาในการศึกษาให้รอบคอบ

รายงานข่าวเพิ่มเติมจากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า แนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลง แต่ยังไม่มีการพิจารณาปรับลดราคาในกลุ่มเบนซิน เนื่องจากค่าการตลาดยังอยู่ในระดับ 1 บาทเท่านั้น ส่วนค่าการตลาดดีเซลเฉลี่ย 85-95 สตางค์ต่อลิตร คงต้องติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์หน้าอีกครั้ง

รมว.พลังงาน ยังกล่าวภายหลังร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน “โครงการสาธิตการใช้รถโดยสารขนาดใหญ่ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง” เพื่อเป็นการส่งเสริมให้การใช้เอทานอลที่เรียกว่า ED95 แทนน้ำมันดีเซล ซึ่งจะเป็นเชื้อเพลิงที่ไม่มีการผสมดีเซล มีเพียงเอทานอลบริสุทธิ์ 95% ผสมกับสารเติมแต่ง ในอัตราส่วนโดยปริมาณ 95 ต่อ 5 โดยตั้งเป้ารถโดยสารขนาดใหญ่ 1,000 คัน จะเพิ่มการใช้เอทานอลได้วันละ 1 แสนลิตร หรือลดการใช้ดีเซลวันละ 6หมื่นลิตร

ทั้งนี้ ได้จัดสรรงบประมาณ 10 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ไปดำเนินการศึกษาข้อดีและข้อจำกัดในการใช้รถโดยสารขนาดใหญ่ที่ใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีดังกล่าวมีการใช้ในเชิงพาณิชย์แล้วโดยบริษัทสแกนเนีย ประเทศสวีเดน รวมทั้งมีการใช้แพร่หลายในยุโปร แอฟริกาใต้ บราซิล และจีน

“ภาครัฐพยายามหาพลังงานทางเลือกให้กับผู้ใช้ให้มากขึ้น ที่ผ่านมาก็มีแก๊สโซฮอล์หลายประเภท ทั้ง อี10 อี20 และ อี85 ซึ่งช่วยลดการนำเข้าน้ำมันได้ ขณะเดียวกัน เป็นการส่งเสริมผลผลิตทางการเกษตรเพื่อนำมาผลิตเป็นเอทานอล ถือว่าโครงการนี้เป็นการเริ่มต้นที่ดีทางหนึ่ง”

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ไทยมีการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในภาคขนส่งและอุตสาหกรรมในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันมาโดยตลอด ซึ่งแต่ละภาคส่วนมีการใช้น้ำมันในสัดส่วน 30% ของการใช้พลังงานทั้งหมด โดยพบว่ามีการใช้พลังงานจากดีเซล คิดเป็น 60% ของการใช้เชื้อเพลิงในภาคขนส่ง หรือมีปริมาณการใช้เท่ากับ 50 ล้านลิตรต่อวัน และเป็นปริมาณ 2.5 เท่าของน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ ดังนั้น หากมีพลังงานทางเลือกเพื่อลดการใช้ดีเซลได้ก็เป็นการช่วยประหยัดพลังงาน

ขณะเดียวกัน ความสามารถในการผลิตเอทานอลของไทยมีอย่างเพียงพอ จากปัจจุบันมีโรงงานเอทานอลที่จดทะเบียนแล้ว 47 แห่ง แต่มีโรงงานที่ผลิตในขณะนี้ 19 แห่ง มีกำลังการผลิตรวม 3 ล้านลิตร ในขณะที่มีความต้องการใช้ 1.2 ล้านลิตร ดังนั้น ยังมีปริมาณเอทานอลที่เพียงพอกับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น