ปธ.โรงกลั่น ไทยออยล์ เร่งสนองนโยบายพลังงาน เตรียมแผนเพิ่มการผลิตแอลพีจีอีก 10,000 ตัน เป็นเฉียด 30,000 ตันต่อเดือน หลังรัฐบาลปรับราคาแอลพีจีหน้าโรงกลั่น พร้อมเล็งปรับปรุงกระบวนการกลั่น-ขยายกำลังการกลั่นเพิ่มเป็น 3 ล้านบาร์เรล/วัน
นายสุรงค์ บูลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยว่า ขณะนี้ไทยออยล์อยู่ระหว่างการปรับแผนเพื่อตอบสนองนโยบายกระทรวงพลังงานที่ให้เร่งผลิตก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) เพื่อจำหน่ายในประเทศ เพื่อช่วยลดการนำเข้าแอลพีจี โดยกำลังเลือกน้ำมันประเภทที่กลั่นแล้วได้แอลพีจีสูงขึ้น หากดำเนินการได้จะทำให้ผลิตแอลพีจีได้เพิ่มอีก 10,000 ตันต่อเดือน เมื่อรวมกับแอลพีจีที่จำหน่ายก็จะเพิ่มเป็น 30,000 ตันต่อเดือน
ทั้งนี้ หลังจากรัฐบาลเห็นชอบปรับราคาแอลพีจีหน้าโรงกลั่นใหม่ให้อิงตลาดโลกแล้ว โดยใช้สูตรอิงราคาตะวันออกกลางร้อยละ 76 และราคาควบคุมในประเทศร้อยละ 24 (ราคาควบคุม 333 ดอลลาร์ต่อตัน) ก็คาดว่า จะทำให้ไทยออยล์มีรายได้เพิ่ม 2,500-3,000 ล้านบาทต่อปี เพราะตามสูตรใหม่หากอ้างอิงจากราคาตะวันออกกลาง 920 ดอลลาร์ต่อตันแล้ว ยอดขาดจะเพิ่มประมาณ 587 ดอลลาร์ต่อตัน
นายสุรงค์ คาดว่า จากเศรษฐกิจจีนและอินเดียยังขยายตัวต่อเนื่อง ความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี-น้ำมันยังสูงขึ้น ขณะที่โรงกลั่น-โรงกลั่นปิโตรเคมี โรงใหม่ยังเกิดขึ้นไม่ทันต่อความต้องการใหม่ จึงคาดว่า ปี 2554 ราคาผลิตภัณฑ์ต่างๆ อยู่ในภาวะขาขึ้น และส่งผลให้ค่าการกลั่นรวม (GIM) อยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 7 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากที่ปี 2553 ได้ GIM ประมาณ 6 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
“ปีนี้เป็นอัปไซเคิล เพราะดีมานด์จีน อินเดีย สูง แต่ซัปพลายยังไม่มีเข้ามา ส่วนโครงการลงทุนเอสพีพี 2 โรง 300 ล้านดอลลาร์ ทางไทยออยล์ไม่ต้องเพิ่มทุนยังใช้เงินสภาพคล่องได้ไม่มีปัญหา”
นายสุรงค์ กล่าวว่า แผนการลงทุนของไทยออยล์ได้มองถึงการขยายการลงทุนในระยะกลางลงทุนประมาณ 200-300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นการปรับแผนผลิตเพื่อนำสิ่งที่มีอยู่แล้วมาเพิ่มมูลค่า โดยปรับปรุงกระบวนการผลิตของหน่วยกลั่นที่ 2 (cdu 2) ซึ่งจะมี 3 เฟส โดยเฟสที่ 1 ลงทุนน้อยจะทำแน่นอน นั่นคือ การเพิ่มไฮโดรเจนเพื่อขยายกำลังกลั่นให้ได้น้ำมันเตา ส่วนเฟส 2 การแปลงน้ำมันเตาเป็นดีเซล จะส่งผลทำให้น้ำมันเตาที่เหลือร้อยละ 10 กลายเป็นดีเซล แต่จะลงทุนเฟสนี้หรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าส่วนต่างราคาดีเซล-เตาจูงใจหรือไม่ หากอยู่ในระดับ 10-15 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก็น่าลงทุน ส่วนเฟส 3 เป็นการขยายกำลังกลั่นเพิ่ม จาก 2.75 แสนบาร์เรลต่อวัน เพิ่มเป็น 3 แสนบาร์เรลต่อวัน ลงทุนสูงถึง 200 ล้านดอลลาร์ นับว่าเป็นการลงทุนสูงมาก จึงต้องศึกษารอบคอบว่าคุ้มค่าหรือไม่