xs
xsm
sm
md
lg

ค้าปลีกฯ มองแนวโน้มธุรกิจปี 54 ดีขึ้น ราคาสินค้าเกษตรดันกำลังซื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นายก ส.ค้าปลีกฯ คาดแนวโน้มธุรกิจปี 54 ดีขึ้น หลังสินค้าเกษตรหลัก 6 รายการ มีราคาปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อกำลังซื้อและการจับจ่าย ภาพรวมยังโตได้ 5% คาด ร้านค้าขนาดเล็ก-มินิมาร์ท แข่งขันกันเดือด “สมภพ” แนะค้าปลีกต้องปรับตัวรับการแข่งขัน “เออีซี” จับตาทุนจีนไหลเข้าลงทุนในภูมิภาคอาเซียน



นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว นายกสมาคมพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกทุนไทย แถลงข่าวทิศทางค้าปลีกไทยปี 2554 โดยระบุว่า แนวโน้มธุรกิจค้าปลีกในปี 2554 จะดีขึ้นกว่าทุกปี เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มสูงในหลายประเภท ทั้งข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน ซึ่งส่งผลต่อการจับจ่ายของภาคการเกษตรที่มีสัดส่วนสูงถึง 50% ของประเทศดีขึ้น

นอกจากนี้ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ที่จะทำให้กำลังซื้อมากขึ้น การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปลายปีนี้ ที่จะมียอดการใช้จ่ายสูง ซึ่งคาดว่า จะมีเงินสะพัดหลักหมื่นล้านบาท และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น

“ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกมูลค่า 1.4 ล้านล้านบาท น่าจะเติบโตได้เกิน โดยการขยายตัวของธุรกิจขนาดใหญ่ การขยายสาขาอาจมีการแข่งขันไม่มากนัก แต่การแข่งขันจะไปอยู่ในประเทศของร้านขนาดเล็ก อย่าง มินิมาร์ท เพื่อให้เข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น ส่วนสินค้าที่มีความต้องการกับผู้บริโภคในปีนี้ คือ สินค้าประเภทความสวยงาม สุขภาพ อาหารสำเร็จรูป”

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเหล่านี้จะเป็นตัวแปรในการกดดันราคาสินค้าที่สูงขึ้น คือ ราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวดี ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูง การขาดแคลนแรงงาน รวมถึงราคาสินค้าที่จะเพิ่มขึ้นจากการที่ราคาวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อตามมา และกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องพิจารณาเรื่องการควบคุมต้นทุนเป็นสำคัญ

ด้าน รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า จากการรวมกลุ่มของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 และการไหลออกของทุนจีนเพื่อเข้าไปลงทุนในภูมิภาคอาเซียน จะเป็นแรงกระเพื่อมใหญ่ที่เข้ามากระทบเศรษฐกิจไทย รวมถึงธุรกิจค้าปลีก เนื่องจากขณะนี้จีนเริ่มเข้ามาลงทุนธุรกิจค้าปลีกและเทรดดิ้งในประเทศไทยแล้ว และจะเห็นภาพชัดเจนภายใน 4-5 ปีจากนี้

ดังนั้น ธุรกิจไทยต้องเร่งปรับตัวจากภาคผลิตสู่ภาคบริการ และพัฒนาคุณภาพสินค้า ขณะที่ธุรกิจค้าปลีกเองก็ต้องปรับตัวรับการแข่งขันเช่นกัน ทำให้จะเห็นภาพของการแข่งขันข้ามเซ็กเมนต์มากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น